เตรียมตั้งคณะทำงานแก้ไขระเบียบเปิดทางให้เอกชนเช่าพื้นที่หลังคาโรงเรียนและโรงพยาบาลของรัฐผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์​นำร่อง​ 50 MW​

1904
cof
- Advertisment-

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เตรียมเสนอรัฐมนตรีพลังงาน ตั้งคณะทำงานร่วม 10 หน่วยงาน เพื่อแก้ไขกฎระเบียบราชการให้โครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์นำร่อง 50 เมกะวัตต์ สำหรับโรงพยาบาล โรงเรียน และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เดินหน้าได้ภายในปี 2564 นี้โดยจะเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่หลังคาของหน่วยงานรัฐเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และขายไฟฟ้าเข้าระบบได้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน​ (Energy News Center-ENC) รายงานว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาระเบียบเกี่ยวกับโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์นำร่อง 50 เมกะวัตต์ สำหรับกลุ่มโรงพยาบาล,โรงเรียนและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร โดยมีนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นประธาน

ทั้งนี้เนื่องจากโครงการนำร่อง 50 เมกะวัตต์​ดังกล่าว เป็นมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ของโรงพยาบาล 20 เมกะวัตต์, โรงเรียน 20 เมกะวัตต์ และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 10 เมกะวัตต์ ในราคารับซื้อ 1 บาทต่อหน่วย

- Advertisment -

แต่มติดังกล่าวยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาด้านระเบียบและกฎหมายหลายประการ ที่ยังไม่สามารถ เปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่หลังคาเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และเอกชนนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ขายให้กับอาคารหน่วยงานรัฐที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์นั้นๆ โดยตรง ซึ่งจะช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้ 10-20% จากที่เคยจ่ายปกติ อย่างไรก็ตามกฎหมายยังไม่เปิดช่องให้หน่วยงานรัฐเปิดให้เอกชนเช่าหลังคา ของโรงพยาบาลหรือโรงเรียน หรือนำเงินงบประมาณที่ได้ไปจ่ายเป็นค่าไฟฟ้าให้เอกชนโดยตรง รวมถึงไม่สามารถนำงบประมาณไปลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าเองได้ด้วย

ดังนั้นจึงต้องแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคก่อน จึงจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคณะทำงานอาทิ​ พพ.,กระทรวงการคลัง,คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​ (กกพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและฝ่ายจำหน่าย เป็นต้น โดยจะแก้ไขกฎระเบียบคู่ขนานกันไปกับการออกระเบียบเงื่อนไขการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการดังกล่าวของ กกพ.ด้วย โดยคาดว่า น่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในปี 2564 นี้

อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมโครงการฯ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายและความเหมาะสมของแต่ละโรงพยาบาล โรงเรียนและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรด้วย เช่น หน่วยงานนั้นๆ มีพื้นที่ติดตั้งโซล่าร์เซลล์​ที่มีความคุ้มค่าในระยะยาวหรือไม่ ซึ่งโควตา 50 เมกะวัตต์ที่รัฐกำหนดไว้ จะเป็นปริมาณที่เพียงพอรองรับอาคารหน่วยงานรัฐที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า 3,000 แห่ง

Advertisment