“สนธิรัตน์” ประชุมออนไลน์ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน Quick win กำหนดประกาศเชิญชวนและรับข้อเสนอได้ ภายในวันที่ 17 เมษายน 2563 นี้ และพิจารณาเสร็จ ในเดือน พฤษภาคม หวังมีเม็ดเงินลงทุนกระจายลงชุมชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต โควิด-19
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ในวันนี้ (30 มี.ค.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้จัดประชุมผู้บริหารระดับสูง ผ่านระบบออนไลน์เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส Covid-19 โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่
การเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ประเภท Quick win ซึ่งเป็นโครงการที่โรงไฟฟ้าสร้างเสร็จแล้ว หรือใกล้จะเสร็จ แต่ยังไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาก่อน มีขนาดไม่เกินโรงละ 10 เมกะวัตต์ในปริมาณรับซื้อโดยรวมไม่เกิน100 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 12 เดือนนับตั้งแต่วันที่มีการลงนามในสัญญา โดยกระทรวงพลังงานมีการจัดประชาพิจารณ์ไปเมื่อ วันที่ 13 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้จะรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องที่สามารถยื่นขอจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนได้ทันทีด้วย เช่น โรงไฟฟ้าชุมชนที่อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ , อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี , อ.บันนังสตา จ.ยะลา ,อ.เมือง จ.นราธิวาส
โดยในส่วนของโครงการ Quick win คาดว่าจะสามารถประกาศเชิญชวนและรับข้อเสนอได้ตามกำหนดการเดิม ภายในวันที่ 17 เมษายน 2563 และจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งนโยบายนี้กระทรวงพลังงานจะเร่งรัดให้สามารถดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะจะมีส่วนช่วยนำรายได้จากการจำหน่ายเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ กระจายสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่จะมีการ จำหน่ายแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% โดยกระทรวงพลังงานจะเข้ามาร่วมผลักดันให้มีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้นผ่านสถานีบริการน้ำมัน เช่น ปตท. บางจาก เชลล์ และผู้ค้ามาตรา 7 ซึ่งจะเร่งรัดให้เกิดการจัดจำหน่ายให้ได้เร็วที่สุด โดยที่ประชุมได้รับรายงานจาก ปตท. แจ้งว่าจะเริ่มจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวคาดว่าจะทำให้มีปริมาณจำหน่ายแอลกอฮอล์เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และช่วยป้องกันปัญหาการระบาดของไวรัส Covid-19 ได้มากขึ้น
สำหรับมาตรการส่งเสริมน้ำมันดีเซล B10 ปัจจุบันมียอดการใช้ประมาณกว่า 12 ล้านลิตร/วัน แต่คาดว่าเดือนเมษายนนี้น่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย 20 ล้านลิตร/วันได้ แม้ว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะลดลงบางส่วนจากสถานการณ์ Covid-19 รวมถึงจะมีมาตรการเพื่อตรวจสอบและป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศด้วย
ส่วนมาตรการส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้อาจต้องชะลอแผนผลักดันให้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานออกไปก่อน เพราะมีความต้องการใช้เอทานอลเพื่อใช้ด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น แต่ก็ได้ให้ทางกรมธุรกิจพลังงานไปเตรียมการไว้หากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ
ที่ประชุม ยังได้รับทราบการเตรียมการเพื่อเร่งมาตรการช่วยภัยแล้ง โดยเร่งรัดโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตรที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รองรับภัยแล้งในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมใช้ 2,265 ระบบ