เดินถูกทาง​ นโยบายรัฐบาลเศรษฐา​ เร่งเจรจา​ OCA​ ไทย-กัมพูชา​  ​สร้างความมั่นคงพลังงานให้ประเทศ

797
- Advertisment-

 หนึ่งในนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรี​คนที่​ 30​ ของไทย​ ที่จะเร่งเจรจาปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่าง ไทย-กัมพูชา​ จะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน​และการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาว​

โดยนายเศรษฐา​ จะแถลงนโยบายนี้ต่อรัฐสภา​ พร้อมๆ กับนโยบายด้านอื่นๆ เพื่อให้ฝ่ายค้านได้ซักถามในรายละเอียด ในวันที่​  11​-12​  กันยายน​ นี้​ ​

- Advertisment -

ในความสำคัญที่ต้องเร่งการเจรจา​ เพราะเรื่องดังกล่าวมีกระบวนการและระยะเวลาในการเข้าไปสำรวจและผลิตปิโตรเลียม​ ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ​ กระทรวงพลังงาน​ เคยประเมินไทม์ไลน์เบื้องต้นไว้ว่า​หากเจรจาจบในปีนี้​ อีก​ 10​ ปี​ จึงจะผลิตก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาใช้ประโยชน์​ได้ 

ดังนั้น ความสำเร็จของนโยบาย OCA​ ไทย​-​กัมพูชา​ เร็วหรือช้า​ จึงขึ้นอยู่กับ​ทีมไทย​แลนด์​ ที่นำโดยนาย​เศรษฐา​ นายกรัฐมนตรี​ และรัฐมนตรี​ในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง​ ทั้ง ดร.ปานปรีย์​ พหิทธานุกร​ รองนายกรัฐมนตรี​และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ​, ​นายสุทิน​ คลังแสง​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม​, และนายพีระพันธ์​ สาลีรัฐวิภาค​ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน​ ว่าจะทำงานให้สอดคล้องกันอย่างเป็นเอกภาพ​ได้มากน้อยแค่ไหน​ ภายในกรอบวาระการทำงาน​ 4​ ปีของรัฐบาล

รองศาสตราจารย์ ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มองในมิติการเมืองระหว่างประเทศ​ เชื่อว่ารัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ​ จะเดินหน้าเชื่อมความสัมพันธ์​กับรัฐบาลของกัมพูชาได้อย่างราบรื่น

ในขณะที่มุมมองของนักวิชาการอย่าง​ รองศาสตราจารย์ ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ ซึ่งเคยกล่าวไว้ในเวทีเสวนา​ ที่จัดโดยคณะนิติศาสตร์​  จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย​ เมื่อวันที่​ 10​ สิงหาคม​ ที่ผ่านมา​ นั้นเชื่อว่า​ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของไทย​ ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ​ และรัฐบาลกัมพูชา​ ที่สมเด็จฮุนเซ็น​ ยังคงมีบทบาทสำคัญ​ น่าจะทำให้การเจรจา ​OCA​​ ระหว่างไทยกับกัมพูชา เป็นไปได้อย่างราบรื่น​

​ดร.คุรุจิต​ นาครทรรพ​ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน​ ซึ่งปัจจุบัน​เป็นผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยแสดงจุดยืนสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งรัดการเจรจา​OCA​ ไทย-กัมพูชา​ โดยเร็วเพื่อพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ

​ดร.คุรุจิต​ นาครทรรพ​ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน​ ซึ่งปัจจุบัน​เป็นผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย​ ยืนยันในวงเสวนาเดียวกันว่า พื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ซึ่งมีขนาดพื้นที่กว่า​ 26,000​ ตารางกิโลเมตร​ มีลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาเป็นแอ่งที่เรียกว่า Pattani Basin ซึ่งเชื่อว่ามีศักยภาพที่จะสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ และแหล่งน้ำมันดิบในปริมาณสำรอง​ที่ไม่น้อยไปกว่าที่สำรวจพบมาแล้วในเขตทางทะเลฝั่งไทย

ดังนั้นหากสามารถเร่งการเจรจาให้มีข้อยุติได้เร็วและเริ่มต้นที่จะเข้าไปดำเนินการสำรวจ จะช่วยแก้ปัญหาพลังงานราคาแพงให้กับทั้งไทยและกัมพูชา​ได้ในระยะยาว​ ทั้งนี้ในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล​ที่มีการปล่อยคาร์บอน​ ไปสู่เชื้อเพลิงสะอาดเพื่อตอบโจทย์​ Net​ Zero​ Emission​ ของประเทศ​ ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับถ่านหินและน้ำมัน​ จะยังมีความสำคัญต่อความต้องการใช้ไปอีกประมาณ​ 30​ ปี

พื้นที่​ข้อพิพาท​ทาง​ทะ​เลระหว่าง​ไทยและ​กัมพูชา​

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน​ ( Energy​ News​ Center-ENC​ )​  รายงานว่า ​กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย​ กระทรวงการต่างประเทศ​ อยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อมูล​เพื่อนำเสนอต่อ​ ดร.ปานปรีย์​ พหิทธานุกร​ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ​ ถึงข้อเสนอที่จะให้มีการเดินหน้าเจรจาเพื่อหาข้อยุติปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา หรือ Overlapping Claims Area – OCA ตามกรอบ MOU 2544 ( MOU 2001 ) ที่มีกลไกการเจรจาภายใต้คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ( Joint Technical Committee – JTC ) ไทย-กัมพูชา รวมทั้งคณะทำงานย่อยอีก 2 คณะ คือ คณะทำงานว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นหัวหน้าคณะ และคณะทำงานเกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหัวหน้าคณะ​ เพื่อจะไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่​ โดยคาดว่านายกรัฐมนตรี​ จะแต่งตั้งให้​ ดร.ปานปรีย์​ เป็นประธาน ​JTC ​ในฝั่งไทย​ ซึ่งการที่เรื่อง​ OCA​ ไทย​-กัมพูชา​ ถูกบรรจุไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล​ ในขณะที่ฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกล​ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง​ ก็ใส่เรื่อง​ดังกล่าวไว้เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรค ก็น่าจะเป็นเสียงสนับสนุนในสภา ที่ทำให้การทำงานเพื่อเจรจาของรัฐบาลมีความคืบหน้า​ไปได้

โดยหากทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันให้​นโยบาย OCA​ ไทย-กัมพูชา​ ของรัฐบาลเศรษฐา ประสบผลสำเร็จ​ได้โดยเร็ว​  ประเทศจะมีพลังงานใช้ไม่ขาดแคลน​ในระยะยาว​ ด้วยราคาที่เหมาะสม​ เป็นธรรม​ ซึ่งส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของทุกคน

Advertisment