เชิดชู”ศ.ดร.บุญรอด บิณฑสันต์”ปูชนียบุคคลแห่งวงการไฟฟ้าไทย

1549
- Advertisment-

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิดชู”ศ.ดร.บุญรอด บิณฑสันต์” ปูชนียบุคคล แห่งวงการไฟฟ้าไทย

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา ทางมูลนิธินิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จัดงาน “เชิดชูครูวิศวกร เมธีวิศวกรรม วันบุญรอด 13 กันยายน”  เพื่อรำลึกถึงคุณุปการ ที่ศ.ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ได้สร้างไว้ให้กับวงการพลังงานของไทย  โดยมีการจัดนิทรรศการเชิดชูเกียรติและเสวนาทางวิชาการเรื่อง “รำลึกถึงศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด ครูวิศวกร เมธีวิศวกรรม “ หัวข้อเรื่อง ช้างงานชื่อบุญรอด /ชีวิตนี้อุทิศเพื่อจุฬาฯ /ผู้ริเริ่มพัฒนาคุณภาพไฟฟ้าของประเทศ /วิกฤตประปาทั่วประเทศและภูมิภาค/ผู้ให้แสงสว่างแก่อีสาน “ ซึ่งมีการเชิญบุคคลที่เคยรู้จักและร่วมงานกับ ศ.ดร.บุญรอด มาเล่าเรื่องคุณูปการที่ ศ.ดร.บุญรอดได้สร้างไว้ ในอดีตและเกิดเป็นประโยชน์ต่อวงการพลังงานไทยจนถึงปัจจุบัน นำโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เสก อักษรานุเคราะห์   นายสมควร  วัฒกีกุล อดีตรองผู้ว่าการ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย  นางชวนพิศ ธรรมศิริ อดีตผู้ว่าการการประปานครหลวง  รวมถึง การบรรยายทางวิชาการเรื่อง “อนาคตพลังงานไทย” โดย ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน   งานจัดขึ้น ที่ห้องประชุม 201 อาคารวิศวฯ100ปี  คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับ ประวัติโดยย่อของ ”ศ.ดร.บุญรอด บิณฑสันต์” ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ครูวิศวกร เมธีวิศวกรรม  นั้น ท่านเกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2458 ในครอบครัวยากจน  ที่ความเป็นอยู่ค่อนข้างอัตคัด  แต่ด้วยเป็นผู้ใฝ่เรียน  ขยันขันแข็ง  มีสติปัญญาเป็นเลิศ มาตั้งแต่วัยเยาว์  ทำให้ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษา เรื่อยมา  จากโรงเรียนเทพศิรินทร์  และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เมื่ออายุเพียง18ปี  และ ได้ทุนรัฐบาล  ไปเรียนต่อ จนสำเร็จเป็นมหาบัณฑิต ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จาก Massachusett  Institute of technology ( MIT) สหรัฐอเมริกา  เมื่ออายุ23ปี

- Advertisment -

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เกิดวิกฤตในประเทศไทยด้วย ศ.ดร.บุญรอด ได้สมัครร่วมขบวนการเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา รุ่นที่1  ปฎิบัติงานสนามที่จีน  อินเดีย และศรีลังกา  ระหว่างปีพ.ศ. 2481-2488  ซึ่งผลจากการปฎิบัติงานครั้งนั้น มีส่วนช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการแพ้สงคราม   จากนั้นก็กลับมาเรียนต่อใช้เวลาอีก 3ปี ก็สำเร็จเป็น Doctor of Science สาขาไฟฟ้าพลังน้ำจากมหาวิทยาลัย Harvard  เมื่อพ.ศ.2491

หลังเรียนจบก็กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และได้ชื่อว่าเป็นด็อกเตอร์ที่หนุ่มที่สุดในยุคนั้น   นอกจากงานสอนแล้ว  ศ.ดร.บุญรอด ยังรับราชการด้านพลังงาน จนได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการการพลังงานแห่งชาติ ปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ  ผู้ว่าการการประปานครหลวง  ในงานด้านต่างประเทศนั้น  ศ.ดร.บุญรอด เป็นประธานองค์การพลังงานสากล  และรองประธานองค์การเขื่อนขนาดใหญ่ระหว่างชาติ

ในด้านการเมือง ศ.ดร.บุญรอด เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย

ตลอดช่วงเวลา 63ปีของงานราชการ จนเกษียณอายุ  ผลงานสำคัญของ ศ.ดร.บุญรอด ที่ถือเป็นคุณูปการต่อวงการพลังงานไทย คือการอำนวยการเปลี่ยนระบบแรงดันไฟฟ้า จาก 110 โวลต์ เป็น 220 โวลต์ เมื่อปีพ.ศ.2500 ที่ช่วยให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคงมากขึ้น และช่วยลดภาระการลงทุนลงได้อย่างมากในระยะยาว

นอกจากนี้ ศ.ดร.บุญรอด ยังเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ในการคิดค้นคว้าและหาทางผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนอีกหลายโครงการ รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ในภาคอีสาน อาทิ เขื่อนอุบลรัตน์  จ.ขอนแก่น  เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร  เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี   เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ  ที่สร้างความเจริญและความสว่างไสว ให้กับพื้นที่ภาคอีสาน ในขณะที่  สปป.ลาว  ศ.ดร.บุญรอด ก็เป็นผู้ผลักดัน การพัฒนาเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง กับไทย เป็นครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้น  ที่ทำให้เกิดความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว มาจนถึงปัจจุบัน

Advertisment