เชฟรอน หนุนสหกรณ์สวนยางในสงขลาผลิตยางแผ่นรมควันคาร์บอนต่ำ

507
- Advertisment-

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด หนุน สหกรณ์กองทุนสวนยางผลิตยางแผ่นรมควันคาร์บอนต่ำ เพื่อเป็นทางออกยางแผ่นคุณภาพ ของชาวสวนยาง ในจังหวัดสงขลา ให้มีความยั่งยืน

ที่ผ่านมาการผลิตยางแผ่นรมควันของสหกรณ์กองทุนสวนยาง ที่มีสมาชิก 400 แห่งทั่วประเทศ ผลิตยางแผ่นรมควันโดยใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีต้นทุนที่สูงและบางครั้งไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ รวมทั้งยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและน้ำเสียส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบสหกรณ์อีกด้วย

เชฟรอน จึงร่วมมือกับ สถาบันวิจัยระบบพลังงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินโครงการ “เสริมสร้างศักยภาพศูนย์การเรียนรู้เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควัน จังหวัดสงขลา” เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้การติดตั้งใช้งานเทคโนโลยีการผลิตและใช้ก๊าซชีวภาพ พร้อมกับห้องรมควันยางแผ่นประสิทธิภาพสูง ที่ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ณ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายขาวจำกัด อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มาตั้งแต่ปี 2558

- Advertisment -

โครงการดังกล่าวมีการพัฒนาต่อยอดโดยประยุกต์ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับลดค่าไฟฟ้าในการผลิตยางแผ่น และการหมุนเวียนใช้น้ำทิ้งจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำยางในสวนยางพารา ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตจากไม้ฟืนได้ประมาณ 30 % เป็นการเพิ่มคุณภาพยางแผ่นรมควัน และยังลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากบ่อบำบัดน้ำเสียด้วย

โดยสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายขาวถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบสหกรณ์ยางแผ่นรมควันคาร์บอนต่ำ เพื่อขยายผลความสำเร็จสู่สหกรณ์กองทุนสวนยางแห่งอื่นๆ ในประเทศต่อไป

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา โครงการเสริมสร้างศักยภาพศูนย์การเรียนรู้เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควัน จังหวัดสงขลา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถพัฒนาเทคโนโลยีห้องรมควันยางแผ่นประสิทธิภาพสูงที่ไม่เพียงตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรสวนยางและลดผลกระทบที่มีต่อชุมชนทั้งด้านกลิ่นและควัน แต่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ก๊าซชีวภาพทดแทนไม้ฟืนในการรมควันยางแผ่น การใช้แผงโซล่าเซลล์สำหรับสูบน้ำ เป็นต้นแบบสหกรณ์รมควันยางคาร์บอนต่ำ ให้เกษตรกรและผู้สนใจได้มาดูงาน ทั้งยังได้ขยายผลความสำเร็จด้วยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งที่สอง เพื่อส่งต่อเทคโนโลยีและความรู้ในการดำเนินกิจกรรมด้านการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยางแห่งอื่นๆ ซึ่งมีอยู่กว่า 400 แห่งทั่วประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”

Advertisment