เชฟรอน มอบทุนวิจัยสุนัขดมกลิ่นตรวจผู้ป่วยโควิด-19ให้กับคณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ

1110
- Advertisment-

เชฟรอน มอบทุนสนับสนุนการวิจัยสุนัขดมกลิ่นเพื่อตรวจหาผู้ป่วยโควิด-19ให้กับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยการใช้สุนัขดมกลิ่นเป็นนวัตกรรมที่ได้รับการรับรองและเริ่มมีการนำไปใช้คัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินในหลายๆ ประเทศแล้ว เนื่องจากสามารถจำแนกผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังใช้เวลาในการตรวจสอบไม่นาน และช่วยลดอัตราเสี่ยงในการแพร่ระบาดไปยังบุคลากรทางการแพทย์ได้

สำหรับในประเทศไทย คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินโครงการวิจัย “การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ” (K9 Dogs Sniff COVID-19) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,085,600 บาท เพื่อพัฒนาทักษะของสุนัขดมกลิ่นให้สามารถตรวจสอบและจำแนกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการออกจากกลุ่มคนปกติ ลดการใช้การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ และเพิ่มศักยภาพในการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศไทย และนำไปสู่การฝึกสุนัขใช้งานตรวจวิเคราะห์โรคต่าง ๆ ในมนุษย์ต่อไป โดยมีระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 7 เดือน (ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 – มีนาคม 2564)

อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่าสามารถจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโควิด-19 เป็นไปอย่างราบรื่น เชฟรอนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนโครงการวิจัยการใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ โดยเชฟรอนเชื่อมั่นว่าความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้ จะช่วยให้เรามีเครื่องมือที่สำคัญในการรับมือโรคโควิด-19 เชิงรุก ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดในอนาคต”

- Advertisment -

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เชฟรอนได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่อุทิศตนเป็นด่านหน้ารับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ ด้วยการมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ (PAPR) และเจลแอลกอฮอล์ ตลอดจนร่วมกับพนักงานมอบเงินบริจาคให้กับมูลนิธิรามาธิบดี ศิริราชมูลนิธิ สภากาชาดไทย และมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์และช่วยเหลือผู้ป่วยโรคโควิด-19 รวมมูลค่าทั้งหมดมากกว่า 10 ล้านบาท

ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโครงการว่า “ก่อนที่จะมีการนำสุนัขดมกลิ่นมาใช้ในการตรวจหาผู้ป่วยโควิด-19 นั้น ในวงการแพทย์ได้มีการใช้สุนัขดมกลิ่นเพื่อตรวจหาโรคมาแล้วหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น โรคมะเร็ง โรคมาลาเรีย หรือโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส สำหรับการใช้สุนัขดมกลิ่นในการวินิจฉัยผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการนั้นก็มีการนำไปใช้ตามสนามบินต่างประเทศมาแล้วหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ฟินแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และออสเตรเลีย ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่าการใช้สุนัขดมกลิ่นจำแนกผู้ป่วยโควิด-19 นั้นมีความแม่นยำสูงถึง 80-100 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าผู้ป่วยจะยังไม่แสดงอาการออกมาก็ตาม นั่นเป็นเพราะว่าสุนัขนั้นมีเซลล์ประสาทรับรู้กลิ่นมากกว่า 300 ล้านเซลล์ มากกว่ามนุษย์ถึง 50 เท่า จึงสามารถตรวจสอบสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compounds, VOCs) ที่เกิดจากการเผาผลาญเซลล์ที่ผิดปกติของมนุษย์ได้ ด้วยการดมกลิ่นจากก้านสำลีที่ป้ายเหงื่อบริเวณรักแร้หรือเหงื่อจากฝ่าเท้าของผู้ป่วย ซึ่งการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีนี้สามารถจะทำได้ในเวลารวดเร็ว และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการแพร่เชื้อแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องได้ด้วย เนื่องจากเหงื่อไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส ต่างจากตัวอย่างจากโพรงจมูกและลำคอ หรือน้ำลาย ซึ่งมีปริมาณไวรัสจำนวนมาก

ขณะนี้โครงการวิจัย “การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ” ได้เริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 การฝึกสุนัขดมกลิ่นด้วยคำสั่งขั้นพื้นฐาน ก่อนที่จะมีการนำไปฝึกการดมกลิ่นตัวอย่างจากผู้ป่วยโควิด-19 ภายในปี 2563 และต่อยอดไปเป็นการดมกลิ่นโดยตรงจากกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อนำไปปฏิบัติหน้าที่ตามจุดคัดกรองตามพื้นที่สาธารณะในอนาคต

Advertisment