เชฟรอนหวังงานรื้อถอนแท่นสร้างประโยชน์กับทุกฝ่าย พร้อมเปิดพื้นที่เอราวัณให้ ปตท.สผ. รับไม้ต่อ

2383
- Advertisment-

เชฟรอนเชื่อมั่นพร้อมดำเนินการรื้อถอนและส่งมอบแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณให้ ปตท.สผ. ซึ่งจะเป็นโอเปอเรเตอร์รายใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต เริ่มเปิดให้เข้าพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมการผลิตปิโตรเลียมเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระบุ การเจรจาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมระหว่างเชฟรอนกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีแนวโน้มที่ดี

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ในการเดินทางลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมแท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางผู้บริหารของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานและโอเปอเรเตอร์ในแหล่งผลิตปิโตรเลียมกลุ่มเอราวัณ (เอราวัณ ปลาทอง ฟูนาน สตูล) ได้นำเสนอรายงานความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ ที่จะให้ทางบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเป็นโอเปอเรเตอร์รายใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต สามารถเข้าสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมการผลิตปิโตรเลียมให้มีความต่อเนื่องภายหลังวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดิมวันที่ 23 เม.ย. 2565 โดยที่ได้มีการลงนามข้อตกลงการเข้าพื้นที่ฉบับที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งการพูดคุยเกี่ยวกับการรับบุคลากรของเชฟรอน ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจสภาพทางธรณีวิทยาและมีประสบการณ์ตรงในการดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งดังกล่าวเข้าทำงานต่อ

ทั้งนี้ ทางเชฟรอนยังได้นำเสนอแผนการรื้อถอนแท่นหลุมผลิตของแหล่งเอราวัณให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพิจารณา โดยในส่วนของแท่นหลุมผลิตที่กรมฯ ไม่เลือกที่จะเก็บเอาไว้ให้โอเปอร์เรเตอร์รายใหม่ดำเนินการผลิตต่อ ทางเชฟรอนก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการรื้อถอนให้แล้วเสร็จทั้งหมด เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของโอเปอเรเตอร์รายใหม่ รักษาความต่อเนื่องในการผลิตพลังงาน

- Advertisment -

โดยในการรื้อถอนแท่นหลุมผลิต มีการดำเนินการแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนบนของแท่นและส่วนขาแท่น โดยที่ผ่านมาได้มีโครงการนำร่องการตัดชิ้นส่วนบนของแท่นหลุมผลิตไปใช้สำหรับแท่นหลุมผลิตแห่งใหม่ (platform reuse) ในหลายแหล่งผลิต ซึ่งรวมถึงแหล่งไพลินเหนือ ที่เชฟรอนเป็นผู้รับสัมปทานอยู่ในปัจจุบัน ช่วยลดต้นทุนในการติดตั้งแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย และยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ขณะที่ส่วนของขาแท่นนั้น ได้มีการทำงานร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการนำขาแท่นไปทำเป็นปะการังเทียมเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศในอ่าวไทย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้แหล่งปิโตรเลียมกลุ่มเอราวัณ ถือเป็นแหล่งผลิตก๊าซแห่งแรกในอ่าวไทย โดย เชฟรอนมีการสำรวจพบปิโตรเลียมมาตั้งแต่ปี 2516 แต่ใช้ระยะเวลาประมาณ 8 ปีในการก่อสร้างและติดตั้งแท่นผลิตกลางและแท่นหลุมผลิตต่างๆ จนถึงปี 2524 กว่าที่จะสามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก และมีการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุถึง แหล่งปิโตรเลียมกลุ่มเอราวัณ มีการผลิตปิโตรเลียม (ปริมาณตาม DCQ) อยู่ที่ 1,215 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน แต่มีการผลิตจริงตามที่คู่สัญญาคือ ปตท. เรียกรับก๊าซในเดือน ม.ค. 2563 อยู่ที่ 1,257 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว 44,519 บาร์เรลต่อวัน น้ำมันดิบ 27,324 บาร์เรลต่อวัน โดยสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย. 2565

ผู้บริหารของเชฟรอนนำเสนอข้อมูลต่อนายสนธิรัตน์ ในระหว่างการเยี่ยมชมแท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ ว่า ปัจจุบันการผลิตปิโตรเลียมของเชฟรอนในประเทศไทย มีพนักงานรวมประมาณ 1,460 คน และเป็นคนไทยเกือบ 100% (มีผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ไม่เกิน 10 คน) และพนักงานจากบริษัทผู้รับเหมา อีกประมาณ 1,100 คน โดยที่ทางเชฟรอนลงทุนพัฒนาบุคลากรเพื่อป้อนอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จนถึงปัจจุบันรวมแล้วกว่าหมื่นคน ผ่านศูนย์เศรษฐพัฒน์ ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 และจะมีอายุครบ 40 ปีในปีนี้

โดยนับตั้งแต่ที่เชฟรอน (สมัยก่อนคือ ยูโนแคล) เริ่มเข้ามาบุกเบิกการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2504 จนถึงปี 2562 มียอดการจ่ายค่าภาคหลวงให้กับภาครัฐรวมแล้วประมาณ 5 แสนล้านบาท (รวมส่วนผู้ร่วมทุน) และมีการลงทุนที่ทำให้เกิดเป็นสินทรัพย์ที่อยู่ในประเทศไทยรวมประมาณ 43.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.3 ล้านล้านบาท การศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของเชฟรอนในช่วงที่ผ่านมา พบว่าก่อให้เกิดผลกระทบประมาณ 2% ของGDP ของประเทศไทย และสร้างงานให้คนไทยมากมายนับแสนคน

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในส่วนของการรื้อถอนแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมนั้น ตนเองเห็นด้วยในหลักการที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ โดยเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ส่วนประเด็นของภาระการรื้อถอนแท่นที่รัฐรับมอบจากเชฟรอน ที่ยังมีการเจรจากันอยู่นั้น ก็มีแนวโน้มทิศทางเป็นไปด้วยดี โดยพยายามที่จะไม่ให้เกิดกระบวนการฟ้องร้องกันในขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการ โดยจากการลงพื้นที่เยี่ยมชมแท่นผลิตเอราวัณเป็นครั้งแรกนั้น เห็นว่าการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีส่วนสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยกระจายความมั่งคั่งลงสู่ภูมิภาค ยกตัวอย่าง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เศรษฐกิจคึกคักมากนับตั้งแต่เชฟรอนย้ายฐานการขนส่งมาจากสงขลา

และเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ตั้งใจมาแท่นเอราวัณ คือการมาใช้สถานที่ ที่เคยเป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมแห่งแรกที่นำพาประเทศไทยไปสู่ยุคโชติช่วงชัชวาลย์ คิกออฟนโยบายการเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ ซึ่งเป็นรอบที่ 23 ที่น่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนได้ในเดือนเมษายนนี้ โดยอยากให้เร็วกว่าปกติ เพื่อให้ลงนามกับผู้ชนะการประมูลได้โดยเร็ว อยากเห็นข่าวดีประเทศไทยที่จะพบแหล่งพลังงานใหม่ๆ

 

Advertisment