เจาะมาตรการกระทรวงพลังงานแก้ปัญหาฝุ่นพิษPM 2.5 

1414
cof
- Advertisment-

แม้ว่ากระทรวงพลังงานและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และปตท. จะไม่ได้เป็นต้นเหตุโดยตรงในการก่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แต่ก็มีความพยายามจากฝ่ายนโยบาย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในกำกับดูแลในการที่จะเข้าไปช่วยบรรเทาปัญหา ที่กำหนดเป็นนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติ ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชน การส่งเสริมน้ำมันดีเซลB10 และ B20  การปรับเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 และการส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV

ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ของกรมควบคุมมลพิษ ณ วันที่ 20 ม.ค. 2563 บ่งชี้ว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ปะปนอยู่ในอากาศ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณมณฑล ตลอดจนเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่นอย่างเชียงใหม่ หรือเมืองอุตสาหกรรมอย่างชลบุรี และระยอง อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพของประชาชน  พร้อมมีคำเตือนให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่กลางแจ้งหรือให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น

ในขณะที่ข้อมูลด้านวิชาการ จากกรมควบคุมมลพิษ ยังระบุถึงต้นเหตุของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอนนั้น เกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม  โดยฝุ่นดังกล่าวสามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอดได้ และเป็นผลทําให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดต่างๆ หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทําให้การทํางานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทําให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด

- Advertisment -
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพลังงาน ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5ในส่วนของกระทรวงพลังงาน

ทั้งนี้ในส่วนมาตรการของกระทรวงพลังงานนั้น  เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมานายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เรียกประชุมคณะทำงานแก้ปัญหา ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ปตท. และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา PM 2.5 เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาร่วมบูรณาการในการแก้ปัญหาดังกล่าวให้กับประเทศ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ภายใต้ 4 มาตรการ ได้แก่ ระยะสั้น ในปี2563 คือ การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10  และ B20 เพื่อลดการปล่อย PM 2.5 จากการปล่อยควันจากท่อไอเสียรถยนต์  ระยะกลาง ช่วงปี 2563-2565 คือ การสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อลดการเผาทิ้งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่โล่งแจ้ง  ให้เผาเป็นเชื้อเพลิงในระบบปิดที่โรงไฟฟ้า และระยะยาว ช่วงปี 2565-2567  คือ การปรับเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 และการส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV

โดยหากมาตรการดังกล่าวดำเนินการอย่างเต็มที่ กระทรวงพลังงานมีการประเมินว่า ในส่วนของการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 จะสามารถลดฝุ่นPM 2.5 ได้ 3.5-13%  ส่วน B20 จะสามารถลดได้ 21-23%

กฟผ.ส่งเสริมใช้รถยนต์EV แก้ปัญหาฝุ่นPM2.5ในระยะยาว

ด้าน กฟผ. ออกเพรสข่าวเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2563 ระบุ หลายมาตรการเพื่อเร่งช่วยเหลือและรณรงค์ป้องกันภัยจากฝุ่นแก่ประชาชนและชุมชนโดยรอบพื้นที่ กฟผ. ได้แก่ 1.รณรงค์ประชาชนรอบเขื่อนและโรงไฟฟ้า ห้ามจุดไฟเผาป่าและวัชพืช  2. ร่วมกับชุมชนจัดตั้งทีมเฝ้าระวังไฟป่า เพื่อร่วมกันทำแนวกันไฟป่าและจัดทีมดับไฟป่าเพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจดับไฟป่า ให้สงบลงได้อย่างรวดเร็ว  3.จัดโครงการสร้างฝายชะลอน้ำรอบพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าและลดโอกาสของการเกิดไฟป่า 4.เปิดระบบพ่นละอองไอน้ำจำนวนประมาณ 1,000 หัว วันละ 3 ช่วงเวลา ช่วงละ 2 – 3 ชั่วโมง บนยอดตึก 20 ชั้นบริเวณสำนักงานใหญ่ ของ กฟผ. จ.นนทบุรี  จนกว่าสถานการณ์ฝุ่นจะคลี่คลาย  และ 5.ติดตั้งรถตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง  6.รณรงค์เพื่อให้ประชาชนรู้จักป้องกันตนเองจากภัยฝุ่น และแจกหน้ากากป้องกันฝุ่นให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่สำนักงานใหญ่ กฟผ. และพนักงาน  และ7.มาตรการลดปัญหาฝุ่นในระยะยาว คือส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล โดยปัจจุบัน กฟผ. มีรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (รถ EV) รถมินิบัสไฟฟ้าสำหรับใช้รับส่งพนักงาน กฟผ. และประชาชนที่มาศึกษาดูงานในพื้นที่สำนักงาน โรงไฟฟ้า เขื่อน และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. พร้อมติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวนทั้งสิ้น 23 สถานี รวมถึงพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ของ ขสมก. ให้เป็นรถไฟฟ้าต้นแบบ และยังได้ขยายผลไปสู่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5

มาตรการทั้งหมดภายใต้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในกำกับดูแล เชิญชวนให้สังคมช่วยมอนิเตอร์ดูว่า มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ตามเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน

Advertisment