เขียนเล่าข่าว EP. 77 – ทำไมไทยรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แพงกว่าอินเดีย? เรื่องนี้มีคำตอบ?

282
- Advertisment-

จากกรณีที่ Avaada Energy ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในอินเดีย ที่ บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ถือหุ้นอยู่ 42.93 % ชนะการประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ในประเทศอินเดีย จำนวน 1,050 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 25 ปี ในราคา 0.032 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่า 1.14 บาท ต่อหน่วย ซึ่งต่อมามีผู้นำราคาดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับราคารับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ในราคา 2.17 บาทต่อหน่วย

จากการสอบถามผู้รู้และแหล่งข่าวในวงการไฟฟ้า พบว่าการเปรียบเทียบแบบราคาต่อราคาดังกล่าว อาจจะทำให้ได้ข้อสรุปที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากการคำนวณราคารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของทั้งสองประเทศมีปัจจัยที่มีความแตกต่างกัน และจำเป็นต้องนำผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของสองประเทศมาพิจารณาด้วย โดยประเด็นที่มีความแตกต่างกันและเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคารับซื้อแตกต่างกัน ประกอบด้วย

1. Economy of Scale หรือ การประหยัดจากขนาดในทางเศรษฐศาสตร์ คือการผลิตสินค้าจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกกว่าผลิตจำนวนน้อย โครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของอินเดีย มีขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 150 -1,050 เมกะวัตต์ โครงการที่ Avaada Energy ชนะประมูล มีกำลังการผลิต 1,050 เมกะวัตต์ สำหรับในประเทศไทยมีโครงการที่ GPSC ผ่านการคัดเลือก 4 โครงการ มีกำลังผลิตตั้งแต่ 8 – 72 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 192 เมกะวัตต์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าโครงการที่อินเดียโครงการเดียวมากกว่า 14 เท่าตัว

- Advertisment -

2. Capacity Factor คือ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จริง เทียบกับกำลังการผลิตตามสัญญา ซึ่งมีผลต่อราคา โรงไฟฟ้าที่มี capacity factor สูง จะทำให้มีต้นทุนต่อหน่วยถูกกว่า โรงไฟฟ้าที่มี capacity factor ต่ำ

3. ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่างกัน ซึ่งต้นทุนของอินเดียถูกกว่าของไทยหลายอย่าง เช่น ค่าแรงงาน และค่าต้นทุนวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอย่างเหล็กเส้น เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ หรือ Policy Expense ของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องนำมาพิจารณาในการคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าด้วย

ดังนั้น การนำราคาของการประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสองประเทศมาเปรียบเทียบกันเลย โดยไม่มีการนำปัจจัยการลงทุนอื่นๆ มาพิจารณาร่วมด้วย อาจจะยังไม่สะท้อนสถานการณ์ที่แท้จริงของราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมในแต่ละประเทศ

Advertisment