เขียนเล่าข่าว EP. 7 จับตา พรุ่งนี้ 23 เมษา 2565 วันประวัติศาสตร์แหล่งก๊าซเอราวัณ

1343
- Advertisment-
วัชรพงศ์ ทองรุ่ง
บก. ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center (ENC)

แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณในอ่าวไทยจะครบ 50 ปีของสัญญาสัมปทานในวันที่ 23 เมษายน 2565 นี้แล้ว

ความสำคัญของแหล่งก๊าซเอราวัณ​ในมุมที่คนไทยควรจะรู้ คือ การเป็นแหล่งทรัพยากรก๊าซธรรมชาติในประเทศ ที่มีการสำรวจพบ มีการลงทุนผลิตก๊าซ ส่งผ่านท่อจากหลุมผลิตก๊าซอ่าวไทยขึ้นมายังฝั่งมาบตาพุด แล้วส่งต่อไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ก๊าซที่แยกได้ส่วนใหญ่นำไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า และอีกส่วนที่สำคัญที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิ​จให้กับประเทศได้อย่างมากมายคือ เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับแหล่งก๊าซเอราวัณมี 3 ฝ่ายหลักๆคือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะตัวแทนภาครัฐที่เป็นผู้อนุมัติให้สัมปทาน บริษัทเชฟรอนประเทศไทย​สำรวจ​และ​ผลิต​ จำกัด ในฐานะผู้รับสัมปทาน และ ปตท. ในฐานะที่เป็นคู่สัญญา​ซื้อขายก๊าซ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์

- Advertisment -

ที่บอกว่า 23  เมษายน 2565 จะเป็นวันประวัติศาสตร์​ที่สำคัญของแหล่งก๊าซเอราวัณ ก็เพราะจะเป็นวันสุดท้ายที่แหล่งก๊าซแห่งนี้จะดำเนินการภายใต้ระบบสัมปทานโดยเชฟรอน ซึ่งเมื่อเปลี่ยนวันใหม่เป็น 24 เมษายน 2565 ก็จะมี บริษัท ปตท.สผ เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ที่ชนะการประมูล มารับช่วงต่อในฐานะผู้ดำเนินการรายใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ พีเอสซี ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดการผลประโยชน์ปิโตรเลียมแบบใหม่สำหรับประเทศไทยที่จะนำมาใช้เป็นครั้งแรก

เชฟรอนจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติการส่งมอบแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ(Transfer Support Center) พร้อมลงนามข้อตกลง 4 ฉบับกับ ปตท.สผ. อีดี เพื่อการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ระบบแบ่งปัน​ผลผลิตในวันที่ 23 เม.ย. 65 นี้เป็นไปด้วยความปลอดภัย

ผมมีโอกาสได้นั่งคุยกับอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ดร. สราวุธ แก้วตาทิพย์ เมื่อไม่กี่วันมานี้ เลยได้ทราบว่า กว่าจะมาถึงวันที่ 23 เมษายน 2565 ผู้บริหารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติต้องทำงานทุ่มเทกันอย่างหนัก เตรียมงานล่วงหน้ากันหลายส่วน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเอราวัณจากมือผู้รับสัมปทานรายเดิม ไปสู่มือ ปตท.สผ.อีดี ในบทบาทคู่สัญญา​กับรัฐรายใหม่ภายใต้ระบบพีเอสซี นั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย    

ปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตขึ้นมาจากหลุมยังสามารถไหลต่อเนื่องเข้าสู่ระบบท่อและเรือกักเก็บแบบไม่สะดุดโดยที่มีมิเตอร์วัดชัดเจน ว่าส่วนไหนคือของเชฟรอน และส่วนไหนจะเป็นของ ปตท.สผ.อีดี ที่จะนำมาแบ่งปันผลประโยชน์​กับรัฐ ณ เวลาที่ถือว่าเป็นการสิ้นสุดสัญญา

ปตท.สผ. อีดี ก่อสร้างแท่นหลุมผลิต และจะเริ่มดำเนินการเคลื่อนย้ายและติดตั้งแท่นหลุมผลิต 8 แท่น รวมถึงเชื่อมต่ออุปกรณ์การผลิตและระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อผลิตก๊าซฯ หลังเข้าพื้นที่ได้

ในมุมที่เป็นบวกสำหรับวันประวัติศาสตร์ของแหล่งก๊าซ​เอราวัณ การตั้งวอร์รูมขึ้นมาบริหารจัดการซึ่งมีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นประธาน  ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกฝ่าย ทั้งเชฟรอนที่เป็นผู้รับสัมปทานรายเดิม  ปตท.สผ. อีดี ผู้รับสัญญารายใหม่ในระบบพีเอสซี  ปตท.ที่จะเป็นผู้ซื้อก๊าซจากแหล่ง และ กฟผ. ที่จะเป็นคนนำก๊าซไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โดยการเตรียมความพร้อมและซักซ้อมทำความใจกันทำได้ค่อนข้างดี ทำให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านแหล่งเอราวัณจากสัมปทานสู่แบ่งปันผลผลิตนั้นจะเป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย ตามที่ตั้งเป้าเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับวันเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซเอราวัณ ที่มีการนำเสนอเป็นข่าวมาเป็นระยะๆ คือ ปริมาณก๊าซที่จะผลิตได้ นั้นไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ทาง ปตท.สผ.อีดี ทำไว้กับรัฐ คือไม่ต่ำกว่า 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน โดยเป็นผลจากการที่ ปตท.สผ.อีดี ไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมเพิ่มการผลิตไว้ล่วงหน้าได้ตามแผน โดยก๊าซที่จะผลิตได้ในวันที่เริ่มต้นสัญญาใหม่น่าจะอยู่ที่ประมาณ 420 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ก๊าซส่วนที่หายไป ซึ่งควรจะมีราคา 116 บาทต่อล้านบีทียู ส่วนหนึ่งจะต้องมีการนำเข้า LNG ที่ราคา Spot LNG ปัจจุบัน อยู่ที่ ประมาณ 30 เหรียญ​สหรัฐฯต่อล้านบีทียู (บนพื้นฐาน อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อ1 เหรียญ​สหรัฐ ราคา Spot LNG จะอยู่ที่ 960 บาท ต่อล้านบีทียู)​

โดยตามแผนที่กระทรวงพลังงานได้รายงานให้ กพช. ได้รับทราบไปแล้วนั้น ปตท. จะมีการนำเข้า LNG มาทดแทนก๊าซที่หายไปจากแหล่งเอราวัณ ประมาณ 1.8 ล้านตันในปี 2565

และอีกเรื่องที่สำคัญก็คือคดีความในกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการที่ทาง เชฟรอน สหรัฐอเมริกา​ ยื่นฟ้องกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตและสิ่งติดตั้งในแหล่งเอราวัณ ที่คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีอีกพอสมควร

23 เมษา 65 วันประวัติศาสตร์​แหล่งก๊าซเอราวัณ จึงเป็นทั้งข่าวดีสำหรับคนไทยที่แหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ในอ่าวไทยยังมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมเหลืออยู่อีกพอสมควร จะได้กลับมาอยู่ในมือคนไทยในการบริหารจัดการเองภายใต้ระบบพีเอสซีที่เป็นระบบใหม่ แต่ก็ต้องแลกกับความกังวลเรื่องต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในระยะแรกที่เอราวัณยังผลิตไม่ได้ตามแผน และคดีความในกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ยังต้องลุ้นว่าสุดท้ายรัฐจะแพ้หรือชนะคดี

Advertisment