น้ำมันขายปลีกที่เราเติมกันตามปั้ม เป็นสินค้าที่หน่วยงานภาครัฐมีส่วนในการดูแลให้ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมและยังนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายน้ำมันไปใช้พัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ โดยโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันที่ประชาชนจ่ายไปในแต่ละครั้งประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1. ราคาเนื้อน้ำมัน 2. ภาษีและเงินนำส่งเข้ากองทุนต่างๆ และ 3. ค่าการตลาดของสถานีบริการและผู้ค้าน้ำมัน
ราคาน้ำมัน 1 ลิตรที่ประชาชนจ่ายไปนั้น เป็นส่วนของราคาเนื้อน้ำมันประมาณ 60 – 70% (อ้างอิงตามราคาตลาดกลางสิงคโปร์) และเป็นค่าการตลาดของสถานีบริการและผู้ค้าน้ำมันราว 5% ซึ่งค่าการตลาด นี้จะรวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการขายน้ำมันที่สถานีบริการ อาทิ เงินลงทุนก่อสร้างสถานี ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเสรี จึงยังไม่ใช่กำไรสุทธิของสถานีบริการและผู้ค้าน้ำมัน
ส่วนอีก 25 – 30% เป็นเงินส่วนของภาษีและกองทุนที่ภาครัฐเป็นผู้กำหนดและบริหารอัตราการจัดเก็บ ซึ่งประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต ภาษีบำรุงเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยจะมีหน่วยงานใดกำกับดูแลและนำเงินไปใช้อย่างไรบ้าง ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center (ENC) ได้นำมาเรียบเรียงให้เห็นชัดเจนดังนี้
1. ภาษีสรรพสามิต หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนด คือ กระทรวงการคลัง จัดเก็บโดย กรมสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งจัดเก็บภาษีแตกต่างกันตามชนิดน้ำมัน โดยเงินที่เก็บได้ จะจัดส่งให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อนำไปเป็นงบประมาณของประเทศและสำหรับใช้จ่ายในด้านต่างๆ เช่น รายจ่ายกระทรวงและหน่วยงาน การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ การป้องกันประเทศ รักษาความสงบภายใน การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมสงเคราะห์ ดูแลสิ่งแวดล้อม เคหะและชุมชน การสาธารณสุข การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และนันทนาการ เป็นต้น เพื่อให้ประเทศและสังคมเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2567 มีการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันแต่ละชนิดแตกต่างกัน ดังนี้ น้ำมันเบนซินออกเทน 95 เรียกเก็บภาษีประมาณ 6.50 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เรียกเก็บประมาณ 5.85 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เรียกเก็บประมาณ 5.20 บาทต่อลิตร ดีเซล เรียกเก็บประมาณ 5.99 บาทต่อลิตร และดีเซล B20 เรียกเก็บ 5.15 บาทต่อลิตร
โดยล่าสุดมียอดใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินรวม 31.67 ล้านลิตรต่อวัน และผู้ใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลรวม 68.61 ล้านลิตรต่อวัน (ข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2567) ขณะที่กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้จากการใช้น้ำมันได้ประมาณ 17.6 ล้านบาท ในเดือน มิ.ย. 2567 (ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต) (https://www.excise.go.th/cs/groups/public/documents/document/dwnt/ntux/~edisp/uatucm551668.pdf)
2. ภาษีบำรุงเทศบาล หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดคือ กระทรวงมหาดไทย จัดเก็บโดย กรมสรรพสามิต ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น เช่น เทศบาล ตามที่หน่วยงานท้องถิ่นนั้นประกาศกำหนด โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497
3. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวนในกรณีที่เกิดวิกฤติราคาพลังงาน เช่น กรณีราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กบน. จะพิจารณานำเงินกองทุนน้ำมันฯ มาอุดหนุนราคาระยะสั้น เพื่อสร้างสมดุลราคาให้ประชาชนสามารถปรับตัวได้และไม่กระทบต่อประชาชนอย่างรวดเร็วเกินไป และในทางกลับกัน เมื่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดโลกปรับลดลง ราคาขายปลีกก็อาจจะยังไม่ปรับลงทันที เพื่อให้สามารถเก็บเงินคืนกองทุนส่วนที่นำไปชดเชยก่อน โดย กบน. อาจลดการชดเชยราคาและเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อบริหารสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ทำให้บางครั้งราคาขายปลีกน้ำมันอาจไม่ได้ปรับตัวลดลงทันทีตามแนวโน้มราคาตลาดโลกที่ลดลง
ทั้งนี้ ณ วันที่ 9 ต.ค. 2567 กบน. ประกาศเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเพื่อส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ โดยน้ำมันทุกลิตรที่ประชาชนเติมจะถูกจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังนี้ ผู้ใช้เบนซินออกเทน 95 ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ 10.68 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ส่งเข้า 4.60 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร ส่วน ดีเซลและดีเซล B20 ส่งเข้า 1.66 บาทต่อลิตร
ที่ต้องมีการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ก็เพื่อชดเชยสถานะกองทุนน้ำมันฯ ที่ติดลบ เนื่องจาก 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเกิดวิกฤติราคาพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องเข้าไปพยุงราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (LPG) จนทำให้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ อยู่ในสถานะติดลบรวม -99,087 ล้านบาท (ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 29 ก.ย. 2567)
4. กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดเก็บเงินโดยอาศัย พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 ในอัตราตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนด เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน ส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และลดการใช้พลังงาน
ปัจจุบันกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน 0.05 บาทต่อลิตร ตามมติ กพช. ณ วันที่ 5 พ.ย. 2564 ที่กำหนดให้เก็บในอัตราดังกล่าวระหว่างปี 2566 – 2567 เพื่อช่วยลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากผลพวงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
โดยปัจจุบันกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีเงินอยู่ 14,212.01 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2567 จากเว็บไซต์สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ ได้กำหนดกรอบการใช้เงินปี 2565 – 2567 ไว้ปีละไม่เกิน 4,000 ล้านบาท สำหรับเปิดให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องการเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินกองทุนฯ ไปดำเนินการด้านส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเป็นหลัก
5. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นภาษีการบริโภคที่จัดเก็บเมื่อมีการขายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ โดย กรมสรรพากร ซึ่งจะจัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด ซึ่งภาษีนี้จะถูกนำไปเป็นงบประมาณของประเทศ
ดังนั้น ราคาน้ำมันที่ประชาชนได้จ่ายจากการเติมน้ำมัน นอกจากจะอำนวยความสะดวกสบายในการขับขี่เพื่อการเดินทางและการขนส่งแล้ว ยังเป็นการนำเงินไปพัฒนาประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยในหลากหลายด้าน โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแลให้ราคาขายปลีกน้ำมันอยู่ในระดับที่เหมาะสมและใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วย