เขียนเล่าข่าว EP. 56 – การใช้ประโยชน์จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

765
- Advertisment-

ปิโตรเคมี ซีรีส์ ตอนที่ 2: การใช้ประโยชน์จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

บทความตอนที่แล้ว เราได้รู้จักปิโตรเคมี ว่าเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน โดยส่วนใหญ่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของโลกจะใช้ก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบในการผลิตมากถึง 53% และ 44% ตามลำดับ ส่วนที่เหลือราว 3% จะใช้ถ่านหินและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และปาล์ม เป็นวัตถุดิบ

จะเห็นได้ว่า น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ นอกจากจะเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในยานพาหนะและเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันแล้ว ยังเป็นสารตั้งต้นสำคัญในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทยอีกด้วย

น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่เรียกรวมกันว่า ปิโตรเลียม เป็นสารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการทับถมและสะสมของซากสิ่งมีชีวิตตามชั้นหินใต้ดินหรือในทะเลเป็นเวลานานหลายร้อยล้านปี คุณสมบัติของวัตถุดิบทั้งสองนี้จะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของซากพืชซากสัตว์ ความดัน อุณหภูมิ อายุ และโครงสร้างในชั้นหินเป็นหลัก

- Advertisment -

การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า การขนส่ง ให้ความร้อนและแสงสว่างในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน และเป็นวัตถุดิบในโรงงานปิโตรเคมี เพื่อผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

สำหรับการใช้ประโยชน์ของก๊าซธรรมชาตินั้น จะผ่านขั้นตอนแยกก๊าซฯ โดยนำก๊าซธรรมชาติ ที่สำรวจขุดเจาะออกมาได้แล้วเข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ เพื่อทำการแยกก๊าซมีเทน (C1) ออกมา สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และผลิตปุ๋ยในภาคการเกษตร รวมทั้งยังแยกก๊าซกลุ่ม C2+ ได้แก่ ก๊าซอีเทน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGLS) ออกมาเป็นวัตถุดิบป้อนให้โรงงานปิโตรเคมี รวมทั้งยังเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกด้วย

ส่วนน้ำมันดิบที่ได้จากการสำรวจขุดเจาะ จะนำไปเข้าโรงกลั่น เพื่อให้ได้แนฟทา (C5+) โดยแนฟทาหนักนำไปผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่างๆ และแนฟทาเบาจะนำไปเป็นวัตถุดิบป้อนให้โรงงานปิโตรเคมี สำหรับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่นเดียวกับก๊าซกลุ่ม C2+ ที่ได้จากก๊าซธรรมชาติ

การนำน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมาใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สามารถผลิตสินค้าและช่วยเพิ่มมูลค่าได้มากมาย โดยเมื่อเปรียบเทียบการใช้น้ำมันดิบ 1 บาร์เรล หรือเท่ากับก๊าซธรรมชาติ 6,000 ลูกบาศก์ฟุต จะสามารถผลิตสารและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ได้ 4 ชนิด ดังนี้ 

1. สารเอทิลีน สามารถผลิตเป็นเอทิลีนไกลคอล ซึ่งใช้ผลิตเป็นเสื้อได้ 21 ตัว และผลิตเป็นโพลีเอทิลีน ซึ่งใช้ผลิตถังขยะพลาสติกได้ 6 ถังใหญ่ และแผ่นฟิล์มขนาด 276 ตารางเมตร รวมถึงท่อน้ำยาว 160 หลา

2. สารโพรพิลีน จะนำมาผลิตเป็นโพลีโพรพิลีน ซึ่งใช้ผลิตกล่องใส่เบียร์ 4 ลัง และเชือกเกลียว 30 เส้น และผลิตเป็นอะคริโลไนไตรล์ ซึ่งใช้ผลิตเสื้อได้ 21 ตัว ผ้าห่ม 5 ผืน

3. สารบิวทาไดอีน บิวทีน จะนำมาผลิตอีลาสโตเมอร์ ซึ่งใช้ผลิตล้อรถยนต์ 1 เส้น ล้อจักรยาน 13 เส้น ยางในล้อรถยนต์ 3 เส้น และ

4. สารอะโรมาติกส์ จะนำมาผลิตคาโปรแลคตัม ใช้ผลิตถุงน่อง 500 คู่

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปิโตรเลียม ซึ่งก็คือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสท (ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากก๊าซธรรมชาติ) เมื่อนำมาผ่านกระบวนการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมากและสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากมาย เช่น น้ำมันดิบ เข้าสู่กระบวนการกลั่น จะได้ก๊าซหุงต้ม (LPG) น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเชื้อเพลิงอื่น ๆ เป็นต้น ส่วนคอนเดนเสท ก็สามารถนำมาผลิตอะโรมาติกส์ สำหรับผลิตเป็นเม็ดพลาสติกต่าง ๆ และก๊าซธรรมชาติก็สามารถนำมาผลิตโอเลฟินส์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นต้นในการผลิตเม็ดพลาสติก ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ขวดบรรจุภัณฑ์ สิ่งทอ และสินค้าคงทน พวกเก้าอี้พลาสติก ลังพลาสติก เป็นต้น รวมถึงส่วนประกอบสำคัญในรถยนต์ด้วย

นอกจากปิโตรเลียมจะนำมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแล้ว พืชผลทางการเกษตรก็สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้เช่นกัน เช่น อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง และปาล์ม เมื่อนำมากลั่นทางเคมีชีวภาพ หรือที่เรียกว่า Biorefinery ก็สามารถผลิตได้ทั้งเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น เอทานอลที่ผสมอยู่ในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซลที่ผสมอยู่ในน้ำมันดีเซล รวมถึงการผลิตพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปาล์มน้ำมันยังนำมากลั่นเพื่อผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางได้ด้วย

ข้อมูลจากสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากปิโตรเลียมมากกว่า 10-25 เท่า นับตั้งแต่เป็นวัตถุดิบขั้นต้นจนถึงสินค้าปลายทางของกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขณะที่การใช้พืชผลทางการเกษตรมาผลิตในกระบวนการเคมีชีวภาพ ก็ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้นเช่นกันจากการนำพืชผลทางการเกษตรมากลั่นทางเคมีกลายเป็นสินค้าทั้งเชื้อเพลิง บรรจุภัณฑ์ และยา เป็นต้น

นอกจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ยังช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้า รวมถึงยังช่วยตอบสนองความต้องการของผู้คนในปัจจุบัน และที่สำคัญยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย

Advertisment