เขียนเล่าข่าว EP. 48 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยุคใหม่ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

588
ขอบคุณภาพจาก International Atomic Energy Agency
- Advertisment-

BY CLEAN ENC

เมื่อพูดถึงพลังงานนิวเคลียร์ คนมักจะนึกถึงภาพระเบิดจากสงครามหรือจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าในอดีต แต่ ผศ.ดร.พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า แท้จริงแล้วการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้านั้นมีความปลอดภัยในระดับสูงมาก และเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน อย่างเช่นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (small modular reactor – SMR) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลายประเทศกำลังให้ความสนใจอย่างมากในขณะนี้ มีระบบป้องกันต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้มีความปลอดภัยมากกว่าโรงไฟฟ้ารุ่นเก่าหลายร้อยเท่า

ขอบคุณภาพจาก International Atomic Energy Agency

และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์นั้น ใช้เชื้อเพลิงคือแร่ยูเรเนียม ถือเป็นพลังงานสะอาด เพราะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ พลังงานนิวเคลียร์ยังถือเป็นพลังงานที่มีความมั่นคง เพราะเชื้อเพลิงคือแร่ยูเรเนียมค่อนข้างหาได้ง่ายและมีราคาต่ำ ขณะที่เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกจากจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในกระบวนการผลิตและเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแล้ว ยังมีราคาผันผวนตามสถานการณ์ของโลก ส่วนพลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์และลมก็ยังมีข้อจำกัด ใช้ได้ในเฉพาะบางช่วงเวลาในแต่ละวันเท่านั้น

- Advertisment -

ผศ.ดร.พงษ์แพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีโรงไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ แต่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะเทคโนโลยี SMR  เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality สร้างความมั่นคงทางพลังงานและสภาพแวดล้อมที่ดี

จากข้อมูลของ กฟผ. ระบุว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMR เป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 300 เมกะวัตต์ มีลักษณะเป็นโมดูลที่ผลิตและประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงานผู้ผลิต สามารถขนย้ายโดยรถบรรทุกหรือรถไฟ เพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่ที่ต้องการได้อย่างสะดวก ในบางรุ่นสามารถติดตั้ง SMR หลายโมดูลประกอบกันเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ โรงไฟฟ้าประเภทนี้มีข้อได้เปรียบในเรื่องของความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ใช้เงินลงทุนต่ำกว่า ใช้เวลาก่อสร้างน้อยกว่า และรวมทั้งเรื่องความปลอดภัยจากที่มีกำลังการผลิตต่ำกว่า รวมถึงความซับซ้อนของระบบน้อยกว่าด้วย

ขอบคุณภาพจาก กฟผ.

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แตกต่างจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทั่วไป โดยจะใช้ “ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน” (Fission) เพื่อสร้างความร้อนแทนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ซึ่งนอกจาก คณะวิศวฯ จุฬาฯ และ กฟผ. แล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้  ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านพลาสมาและเทคโนโลยีฟิวชัน ระหว่าง ปตท. และ สทน. เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ระหว่าง ปตท. และ สทน. โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมมือกันในด้านการวิจัยและพัฒนาพลาสมา เทคโนโลยีฟิวชัน และห้องปฏิบัติการขั้นสูง และมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนาด้านพลาสมาและเทคโนโลยีฟิวชันในอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2570 

ความร่วมมือในครั้งนี้ยังสอดรับกับเป้าหมายของกลุ่ม ปตท. ที่มุ่งมั่นแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ที่มีศักยภาพในการบรรลุเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานที่ยั่งยืน  

Advertisment