เขียนเล่าข่าว EP.42  ตามไปดูจิ๊กซอว์การสร้าง ECOSYSTEM ธุรกิจแบตเตอรี่ ของกลุ่ม ปตท.

610
- Advertisment-

ต่อจากตอนที่แล้วที่ผมมีโอกาสไปที่อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา ของ PTTLNG ฟังการบรรยายสรุปจากซีอีโอ ปตท. คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ถึงภาพรวมธุรกิจ LNG และการใช้ประโยชน์จากความเย็นที่ติดมากับ LNG ซึ่งน่าสนใจเพราะการซื้อ LNG จากต่างประเทศมีกระบวนการต้นทางของผู้ขาย ที่ต้องทำให้ก๊าซธรรมชาติมีสถานะเป็นของเหลวโดยลดอุณหภูมิให้ติดลบ 160 องศาเซลเซียส ปริมาตรลดลง 600 เท่าเพื่อให้คุ้มค่าต่อการขนส่งระยะทางไกลๆ  เมื่อมาถึงที่ LNG Terminal ต้องแปรสภาพเปลี่ยนคืนสถานะให้กลายเป็นก๊าซ ความเย็นที่ติดมาด้วยก็จะสลายไป ถ้าใครไม่เรียนรู้ที่จะนำความเย็นนั้นมาใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ ก็ถือว่าเป็นการเสียโอกาส

ในเช้าของอีกวัน คณะ ปตท.พามาดูโรงงานผลิตแบตเตอรี่ pilot plant ของ Nuovo Plus (อ่านออกเสียงว่า นูออโว พลัส )ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ปตท. โดยที่มี ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท.เป็นผู้บรรยายภาพรวมธุรกิจแบตเตอรี่และ ESS (Energy Storage System ) ให้คณะสื่อมวลชนที่ร่วมทริปครั้งนี้ได้รับฟัง

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท

- Advertisment -

ธุรกิจแบตเตอรี่และ ESS ของกลุ่ม ปตท.ลงทุนผ่านบริษัท Nuovo Plus จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 4,200 ล้านบาท จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 โดยเป็นการถือหุ้นร่วมกันระหว่าง อรุณ พลัส (ปตท.ถือหุ้น 100%) สัดส่วน 51% และ GPSC 49% โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับแบตเตอรี่แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต ออกแบบระบบ ให้บริการด้านเทคนิคและ Energy Solution แก่ลูกค้า รวมไปถึงงานวิจัยทั้งในด้านกระบวนการผลิต นวัตกรรมแบตเตอรี่และการ Recycle แบตเตอรี่ เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่พลังงานสะอาดของประเทศและอุตสาหกรรมไทย

โดยปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ ปตท.ต้องลงมาทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นนโยบายของภาครัฐ ที่ประกาศเดินหน้า สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality ) และสู่การปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) โดยรัฐมีนโยบายที่เร่งส่งเสริมทั้ง การพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (renewable) และยานยนต์ไฟฟ้า(Electric Vehicles: EV)  ที่จำเป็นจะต้องมีแบตเตอรี่และระบบการกักเก็บพลังงานหรือ  ESS มารองรับ

ที่ผ่านมา Nuovo Plus ไปจับมือกับ Gotion ที่เป็นบริษัทชั้นนำ ในธุรกิจแบตเตอรี่ระดับโลก  จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ด้วยทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท สัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ตามลำดับ เพื่อผลิตแบตเตอรี่และให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร โดยผลิตชุดแบตเตอรี่แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) ที่มีความปลอดภัยและคุณภาพสูง สำหรับตลาดยานยนต์และระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าในนาม NV Gotion ที่โรงงานแบตเตอรี่ระดับกิกะวัตต์ (Giga Battery Factory)  ในอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง โดยจะมีศักยภาพการผลิต ณ ปี 2566 ที่ 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และจะขยายเป็น 4 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ในปี 2567

ในส่วนของการพัฒนานวัตกรรมด้านแบตเตอรี่นั้น  Nuovo Plus ได้ร่วมมือกับบริษัท 24m ซึ่งเป็นผู้นำระดับสากลด้านนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่แบบ Semi-Solid Platform Technology  ทำโรงงานต้นแบบขนาด 30 เมกกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ภายใต้แบรนด์ G-Cell ซึ่งเป็น Semi-solid li-ion battery ที่มีความปลอดภัยสูงและง่ายต่อการ Recycle และศูนย์วิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ของ Nuovo Plus ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง  ซึ่งเป็นสถานที่ ที่ ปตท.พาคณะสื่อมวลชนมาเยี่ยมชม

ดร.บุรณิณ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เป้าหมายความสำเร็จในธุรกิจแบตเตอรี่ ของกลุ่ม ปตท. คือการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจหรือEcosystems ให้เกิดขึ้นอย่างครบวงจรในประเทศ โดยที่ ปตท.ไม่จำเป็นจะต้องลงทุนเองทั้งหมด โดยการจัดตั้ง NUOVO PLUS ขึ้นมาด้วยการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เทคโนโลยีและเงินทุน เป็นเหมือนการจุดประกายให้กับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศและการสร้างEcosystems ให้เกิดขึ้นให้ได้

โดยรัฐมีนโยบายที่จะเพิ่มสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30 % ภายในปี 2030 ซึ่งหมายถึงว่าจะมีรถยนต์อีวี วิ่งบนถนน 6 แสนคันซึ่งจะต้องมีแบตเตอรี่ และ ESS มารองรับ ซึ่งโรงงานที่ NUOVO PLUS ลงทุนนั้นมีกำลังการผลิตเริ่มต้น 2 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี รองรับได้ประมาณ 50,000 คัน ซึ่งหากดีมานด์เพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายที่รัฐตั้งเอาไว้ ก็ยังมีโอกาสที่จะขยายกำลังการผลิตในเชิงพาณิชย์เพื่อรองรับได้

อย่างไรก็ตามความท้าทายทางธุรกิจสำหรับ NUOVO PLUS  คือ คุณภาพและราคาจำหน่ายแบตเตอรี่ ที่จะต้องแข่งขันได้กับแบตเตอรี่นำเข้า และสิ่งที่ ดร.บุรณิณ บอกกับผู้สื่อข่าวว่าอยากจะเห็น รถยนต์อีวี จากยุโรป และญี่ปุ่น เข้ามาตีตลาดรถยนต์อีวีในไทยบ้าง จากปัจจุบันที่รถยนต์อีวี ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากจีน

Mobile Battery กำลังจ่าย 180 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จรถอีวีได้คราวละ 5 คัน เป็นโปรดักส์ใหม่ที่ทาง นูออโวพลัส เตรียมนำออกสู่ตลาด
ดร.บุรณิณ กำลังสาธิตการชาร์จรถยนต์อีวีด้วย Mobile Battery

สิ่งสำคัญของการลงทุนสร้างโรงงาน Pilot Plant และศูนย์วิจัย พัฒนาแบตเตอรี่ของ Nuovo Plus ทำให้คนของ ปตท.เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆในทางธุรกิจ  จากที่ไม่เคยรู้มาก่อน เพราะเดิมธุรกิจหลักคือก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และปิโตรเคมี  การก้าวข้ามมาในสนามธุรกิจใหม่ คราวนี้ ดร.บุรณิณ บอกกับผมว่า “ จีนซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในตอนนี้นั้นใช้เวลาสร้าง Ecosystems กว่า 20 ปี  ดังนั้นเป้าหมายที่ ปตท.ต้องการจะสร้าง Ecosystems นี้ให้เกิดขึ้นในประเทศคือ เราจะเรียนรู้ว่าจะทำให้เร็วกว่านื้ได้อย่างไร ตอนนี้ ปตท.เริ่มทำมาแล้วและรู้แล้วว่า จุดสลบของธุรกิจแบตเตอรี่ คืออะไร “

ต้องรอติดตามว่า Ecosystem ธุรกิจแบตเตอรี่แบบครบวงจร ตั้งแต่การนำเข้าแร่และวัสดุที่สำคัญ การตั้งโรงงาน ผลิต จำหน่าย ทำการตลาด แข่งขันกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้า และการรีไซเคิล จนเกิดเป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่เต็มรูปแบบ ที่ ปตท.ตั้งเป็นเป้าหมายจะผลักดันให้สำเร็จ และเกิดขึ้นได้ภายในกี่ปี

ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ของ Nuovo Plus ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
Advertisment