ข่าวสถานการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนช่วงนี้กำลังตึงเครียด และวงการพลังงานบ้านเราก็เครียดไม่แพ้กัน เพราะว่ารัสเซียนั้นเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ไปที่ยุโรป สถานการณ์ดังกล่าวจึงมีผลต่อราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas) หรือ LNG
จากที่กระทรวงพลังงานเคยคาดการณ์ว่า ราคา LNG ในตลาดจร หรือ Spot LNG เมื่อเข้าช่วงฤดูร้อน ราคาจะลดลงมาได้บ้าง แต่เมื่อเกิดวิกฤติเรื่องรัสเซียกับยูเครน ราคา Spot LNG ที่อ้างอิงตามตลาด JKM ส่งมอบกันในเดือน เม.ย. พ.ค. มิ.ย. 2565 ที่เป็นช่วงฤดูร้อน ปรากฏว่าราคาก็ยังสูงอยู่ที่ระดับ 25-26 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
ถ้ายังจำกันได้เมื่อเดือน ก.ค. 2563 ปตท. เคยนำเข้า Spot LNG ได้ในราคาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพียง 1.78 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่พอมาถึงปีนี้ ราคา Spot LNG กลายเป็นหนังคนละม้วน
มาถึงคำถามที่ว่า ทำไม LNG แพงแล้วค่าไฟต้องแพงตาม? คำตอบก็คือเพราะไทยเรานำเข้า LNG จากต่างประเทศมาเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
LNG ที่เราจะต้องนำเข้าในปีนี้นั้นมี 2 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 เป็นสัญญาระยะยาว นำเข้าโดย ปตท. ปริมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี ตรงนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีสัญญาที่ตกลงราคากันไว้แล้ว และราคาไม่ได้แพงแบบราคา Spot LNG ขณะนี้
ส่วนที่จะต้องใช้เพิ่มอีก 4.5 ล้านตันต่อปีนั้นยังไม่ได้เปิดเผยว่าจะเป็นแบบไหน โดยเป็นในส่วนที่ ปตท.จะต้องนำเข้ามาเพื่อทดแทนก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยที่ผลิตไม่ต่อเนื่อง ปริมาณ 1.8 ล้านตัน ส่วนอีก 2.7 ล้านตันนั้น ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดให้นำเข้าตามนโยบายเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ ที่ให้สิทธิ์บรรดาผู้จัดหาหรือค้าส่งก๊าซที่ได้รับใบอนุญาต หรือ Shipper รายใหม่ ได้แจ้งความจำนงเพื่อนำเข้า ในส่วนนี้ถ้าราคานำเข้ายังสูงแบบราคา Spot LNG ในปัจจุบัน ก็จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างแน่นอน
ที่ผ่านมา Spot LNG นำเข้านั้นจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าไม่มากนัก เพราะเราใช้ในสัดส่วนที่น้อย คือ ประมาณ 5% โดยเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นก๊าซธรรมชาติที่มาจากอ่าวไทย ซึ่งมีราคาถูกกว่า LNG นำเข้า
แต่ในปี 2565 นี้ ถือเป็นกรณีพิเศษ โดน 2 เด้ง เพราะต้องใช้ในปริมาณมากขึ้นเพื่อทดแทนแหล่งเอราวัณที่ผลิตไม่ต่อเนื่อง และเจอสถานการณ์ LNG ราคาแพงซ้ำเข้าไปอีก
อย่างไรก็ตาม ในด้านของกระทรวงพลังงานนั้น ก็พยายามที่จะลดผลกระทบในเรื่องนี้ลง โดยมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมาได้เห็นชอบแนวทางในการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในปี 2565 เพื่อลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่มาจากเรื่อง LNG ราคาแพง โดยตั้งคณะอนุกรรมการที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ขึ้นมาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมีประเด็นที่จะต้องบริหารจัดการให้เป็นไปตามมติ กพช. อาทิ
– การจัดหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เพิ่มเติม ให้เต็มความสามารถ
– การเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ขนาด 300 เมกะวัตต์ ที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าการนำเข้า LNG โดยเลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
– การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเติมจากสัญญาซื้อขายเดิม
– การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทน LNG ราคาแพง
– การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ สปป.ลาว เพิ่มขึ้น
แนวทางบริหารจัดการเชื้อเพลิงของภาครัฐตามที่เล่ามาทั้งหมด หากดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ก็เชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าลงได้พอสมควร
แต่ถ้าดำเนินการผิดไปจากแผน คอลัมน์เขียนเล่าข่าว ก็แนะนำว่า เหลือทางเดียวที่จะช่วยประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าได้ นั่นก็คือ การใช้ไฟฟ้าให้ประหยัดขึ้นเพื่อลดจำนวนหน่วยการใช้ลงนั่นเอง เพราะอัตราค่าไฟฟ้าบ้านเราเป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได ใครใช้ไฟจำนวนหน่วยมาก อัตราค่าไฟก็จะยิ่งสูง
ถือว่าเตือนกันไว้ก่อนแล้วนะครับ
–