การค้าขายน้ำมันในประเทศไทยนั้นเป็นตลาดเสรี ซึ่งผู้ค้าน้ำมันที่ได้รับใบอนุญาตตามกฏหมาย หรือที่มักเรียกกันว่า “ผู้ค้าตามมาตรา 7” นั้น สามารถที่จะกำหนดราคาขายปลีกของตัวเองได้ตามต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยรัฐทำได้เพียงแต่ขอความร่วมมือเท่านั้น
ดังนั้น ในราคาขายปลีกที่แต่ละปั๊มจำหน่าย ณ วันที่ 31 ม.ค. 65 ที่รัฐขอความร่วมมือผู้ค้า ให้ตรึงราคาดีเซลเอาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร นั้น จึงเห็นว่า มีเพียง 3 แบรนด์ดังเท่านั้น คือ PTT Station บางจาก และ IRPC ที่ยังขายดีเซล B7 ในราคา 29.94 บาทต่อลิตร ส่วนแบรนด์อื่นนั้นทะลุ 30 บาทต่อลิตรไปแล้ว โดยมีขายที่แพงกว่าตั้งแต่ 30 สตางค์ต่อลิตร 60 สตางค์ต่อลิตร 90 สตางค์ต่อลิตร ไปจนถึง 2.10 บาทต่อลิตร
นอกจากการขอความร่วมมือกับผู้ค้าในการช่วยตรึงราคา ซึ่งมีทั้งรายที่ให้ความร่วมมือ และไม่ได้ให้ความร่วมมือเพราะร่วมมือไม่ไหวที่จะยอมให้ค่าการตลาดดีเซลอยู่ในระดับที่ต่ำมาก รัฐก็มีกลไกที่สำคัญคือการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีรายได้มาจากการเก็บสะสมเงินจากผู้ใช้น้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันยังไม่แพงนั่นแหละมาใช้ชดเชยราคาดีเซล ในช่วงนี้ โดย ณ ปัจจุบัน มีการชดเชยราคาดีเซลอยู่ที่ 3 บาทต่อลิตร หากคิดจากตัวเลขการใช้ดีเซลโดยเฉลี่ยต่อวันของปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ประมาณวันละ 61 ล้านลิตร กองทุนน้ำมันก็มีเงินไหลออกเฉพาะเรื่องของดีเซล ประมาณวันละ 183 ล้านบาท หรือประมาณ 5,490 ล้านบาทต่อเดือน
ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ อยู่ในฐานะที่ติดลบ 1.2 หมื่นล้านบาทแล้ว จากที่เคยมีเงินสะสมอยู่ 3-4 หมื่นล้านบาท เพราะนอกจากจะต้องอุดหนุนราคาดีเซลแล้ว ยังต้องไปอุดหนุนก๊าซหุงต้มหรือ LPG ที่ราคาไม่เกิน 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดยตัวเลขการชดเชย LPG นั้น สะสมรวมแล้ว ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท
กระทรวงพลังงานยังมีกลไกที่จะช่วยให้ราคาดีเซลลดลงได้อีก แต่ต้องไปเกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่นด้วย คือ การปรับลดส่วนผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ B100 ในน้ำมันดีเซล ที่มีราคาแพงกว่าเนื้อน้ำมัน ให้มีสัดส่วนลดลง ก่อนหน้านี้ดีเซลมีขายกันอยู่ 3 เกรด คือ ดีเซล B7 B10 และ B20 แต่ช่วงที่ราคาน้ำมันขาขึ้น คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานนั้น ได้มีมติให้จำหน่ายเพียงดีเซล B7 เพียงเกรดเดียวเป็นการชั่วคราว และล่าสุดในการประชุม กบง. วันนี้ (31 ม.ค. 65) ก็มีมติให้ปรับลดส่วนผสมลงอีกเป็น B5 โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์-31 มีนาคม 2565
ปัจจุบันราคา B100 พุ่งไปถึงระดับ 57 บาทต่อลิตรแล้ว ซึ่งเป็นราคาที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ การปรับลดสัดส่วนลงในครั้งนี้ รัฐคำนวณตัวเลขดูแล้วว่าน่าจะลดต้นทุนดีเซลลงได้จากเดิม 50-60 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งจะไปช่วยลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันลงได้
อีกกลไกหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังซึ่งจะช่วยลดราคาขายปลีกดีเซลลงได้อีก คือ การลดภาษีสรรพสามิตดีเซลที่ปัจจุบันเก็บอยู่ลิตรละ 5.99 บาท อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ส่งสัญญาณว่าการลดภาษีต้องคำนึงถึงรายได้ที่จะมาชดเชยภาษีน้ำมันดังกล่าวที่จะหายไปด้วย เพื่อไม่ให้กระทบต่อรายได้รวมของประเทศในปีงบประมาณ 2565 และโยนให้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาล
รัฐมนตรีพลังงานประกาศจะตรึงราคาดีเซลเอาไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ให้ได้จนถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2565 ไม่ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะปรับสูงขึ้นแค่ไหนก็ตาม ซึ่งขณะนี้ยังเหลืออีก 2 เดือน โดยคาดว่าเมื่อถึงช่วงฤดูร้อนราคาน้ำมันตลาดโลกน่าจะอ่อนตัวลงตามดีมานด์ที่ลดลง
กลไกที่จะยังช่วยตรึงราคาดีเซลไปได้อีกเฮือกใหญ่ คือ การเร่งรัดขั้นตอนเงินกู้มาเติมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ที่เตรียมไว้ ก้อนแรก 2 หมื่นล้าน และก้อนที่สองอีก 1 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 3 หมื่นล้านบาท
ถึงตอนนี้คำถามก็ยิ่งดังขึ้นว่า รัฐจำเป็นต้องจ่ายเงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่ออุ้มดีเซลเอาไว้ขนาดนั้นเลยหรือ? แล้วคนใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน รัฐจะให้ความเป็นธรรมกับพวกเขาอย่างไร บ้างไหม? และจะมีแนวทางบริหารจัดการอย่างไร ให้เกิดความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย เป็นโจทย์ที่ต้องฝากให้รัฐบาลคิดให้ตกโดยเร็ว
–