สนพ.เกาะติดสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมัน 11 – 15 พฤษภาคม 2563 ทำให้วิเคราะห์ได้ว่าเกษตรกรชาวสวนยังถูกกดราคา ในขณะที่ราคาCPO ของมาเลเซียต่ำกว่าไทยมาก ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลักลอบนำเข้า CPO เพื่อทำกำไรส่วนต่างประมาณ5-6บาทต่อกก.
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รายงานการติดตามสถานการณ์น้ำมันชีวภาพ โดยในส่วนของสถานการณ์ราคาไบโอดีเซล (B100) วันที่ 18 – 24 พ.ค. 2563 อยู่ที่ 25.01 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.14 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 20 – 21 บาทต่อ กก. และ ราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 11 – 15 พฤษภาคม 2563 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.90 – 3.10 บาทต่อ กก. ทั้งนี้ คณะทำงานตรวจสอบสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือทั้งระบบ แจ้งปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบรวม ณ สิ้นเดือน เม.ย.2563 อยู่ที่ ประมาณ 251,369 ตัน
โดยในช่วงเดือนพ.ค.2563 เป็นช่วงที่ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกตามฤดูกาลมาก แต่ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลงจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประมาณการผลผลิตปาล์มน้ำมันเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน จะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.67 และ 1.56 ล้านตัน ตามลำดับ ลดลงร้อยละ 10.83 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคหลังจากได้รับผลกระทบ Covid-19 ไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.63) จากการประมาณการของกรมการค้าภายใน อยู่ที่ประมาณ 70,000-85,000 ตัน/เดือน สาเหตุจากความต้องการน้ำมันบรรจุขวดในธุรกิจร้านอาหารที่มีแนวโน้มลดลง จากมาตรการปิดพื้นที่ (lockdown)
ส่วนปริมาณการผลิตไบโอดีเซล ข้อมูล ณ สิ้นเดือน มี.ค.2563 อยู่ที่ 4.83 ล้านลิตร/วัน และปริมาณการใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ 5.32 ล้านลิตร/วัน โดยปริมาณการใช้อยู่ในช่วงการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐที่กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศ
ในขณะที่ราคาวัตถุดิบ CPO ที่ตลาดมาเลเซียอยู่ที่ 15.45 บาทต่อกก. (ถูกกว่า CPO ของไทยซึ่งอยู่ที่ 20 – 21 บาทต่อ กก.)โดยในเดือนแรกที่มาเลเซียประกาศล็อคดาวน์ ปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มลดลง 47% FGV Holdings ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่ใหญ่ที่สุดของโลกคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตของปี 2563 จะลดลงอย่างมาก เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 กระทบการทำงานของแรงงานและโรงงานผลิต
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ข้อมูลราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 11 – 15 พฤษภาคม 2563 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.90 – 3.10 บาทต่อ กก.ในขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบหรือ CPO อยู่ที่ 20 – 21 บาทต่อ กก.ทำให้เห็นว่า เกษตรกรชาวสวนปาล์มถูกกดราคาผลผลิต ซึ่งจากสูตรคำนวณของกรมธุรกิจพลังงาน ที่เคยเปิดเผยต่อสื่อมวลชน หากราคา CPO อยู่ที่ 21 บาทต่อ กก. ราคาผลปาล์มน้ำมัน (18% ) ควรจะมีราคาอยู่ที่ 3.59 บาทต่อกก. ในขณะที่ข้อเท็จจริงเกษตรกรได้ราคาอยู่ 3.10 บาทต่อกก.เท่านั้น
นอกจากนี้ ราคาCPO ของมาเลเซีย อยู่ที่ 15.45 บาทต่อกก. ซึ่งถูกกว่า CPO ของไทยซึ่งอยู่ที่ 20 – 21 บาทต่อ กก. ยังชี้ให้เห็นว่า มีแรงจูงใจให้เกิดการลักลอบนำเข้า CPO เพื่อทำกำไรส่วนต่างที่สูงถึง 5-6 บาทต่อกก. โดยหากมีการลักลอบนำเข้าCPO เข้ามามาก ก็จะยิ่งกดดันให้ราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรต่ำลงไปอีก