อุ้มราคา LPG ได้มากขึ้น กบน.ขยายวงเงินให้ติดลบได้ถึงหนึ่งหมื่นล้าน

924
- Advertisment-

คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติขยายกรอบวงเงินบัญชี LPG ให้ติดลบได้ถึง 10,000 ล้านบาท จากเดิมอนุญาตให้ติดลบได้ไม่เกิน 7,000 ล้านบาท เพื่อไม่ให้มาตรการ “ลดราคาก๊าซ LPG จำนวน 45 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน” สะดุด หลังยอดการอุดหนุนราคาทำเงินในบัญชีติดลบเกือบ 7,000 ล้านบาทแล้ว  ด้านผู้ค้าน้ำมันประกาศขึ้นราคาน้ำมันทุกชนิดขึ้น 0.50 บาทต่อลิตร เว้น E85 เพิ่มขึ้น 0.30 บาทต่อลิตร มีผล 19 พ.ค. 2563 เวลา 05.00 น.

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) เปิดเผยภายหลังประชุม กบน.ว่า ที่ประชุมมีมติให้ขยายกรอบวงเงินสำหรับใช้ชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้เพิ่มขึ้น จากเดิมกำหนดให้บัญชี LPG ติดลบได้ไม่เกิน 7,000 ล้านบาท ให้เปลี่ยนเป็นติดลบได้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบมาตรการลดราคาก๊าซ LPG จำนวน 45 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาไวรัส COVID-19
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2563 กบน. มีมติให้ลดราคา LPG ลง 45 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน (23 มี.ค.-23 มิ.ย. 2563) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากภาวะการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อ COVID-19  โดยกำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นจากเดิม 17.1795 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาขายปลีก LPG ขนาดถัง 15 กิโลกรัม ราคาลดลงจาก 363 บาท เหลือ 318 บาท (ลดลง 45 บาทต่อถัง) เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2563

จากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้การนำเงินบัญชี LPG ไปพยุงราคาขายปลีกดังกล่าวติดลบอยู่ที่ 6,182 ล้านบาท (ใกล้ครบกรอบที่อนุมัติไว้ให้ติดลบไม่เกิน7,000 ล้านบาท) ซึ่งการขยายกรอบวงเงินดังกล่าวได้ตรวจสอบสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว โดยกองทุนฯยังมีสถานะเป็นบวกและนำมาพยุงราคา LPG ได้อีก

- Advertisment -

โดยสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังมีเงินสุทธิอยู่ที่ 35,176 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 41,358 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 6,182 ล้านบาท
ทั้งนี้ให้โอนเงินในบัญชีน้ำมันไปใช้ในบัญชี LPG และให้โอนคืนบัญชีน้ำมันในภายหลัง และให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) จัดทำรายงานรายรับ-รายจ่าย และฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบัญชี LPG เพื่อรายงานให้ กบน. ทราบทุกเดือน

อย่างไรก็ตามในวันที่ 23 มิ.ย. 2563 ซึ่งจะครบกำหนดการลดราคา LPG 45 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมนั้น ทาง กบน.จะกลับมาพิจารณามาตรการดังกล่าวใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้ กบน.ยังมีมติให้คงอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯเท่าเดิม แม้ราคาน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลจะมีการเปลี่ยนแปลงราคาถึง 11 ครั้ง (ตั้งแต่ 24 มี.ค.-15 พ.ค.2563) ซึ่งทำให้กลุ่มเบนซินราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.31 บาทต่อลิตรและดีเซลลดลงเฉลี่ย 2.50 บาทต่อลิตร โดย กบน.เห็นควรให้คงอัตราส่งเงินเข้ากองทุนฯไว้เท่าเดิมเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากปัญหา COVID-19 ท่ามกลางราคาน้ำมันโลกที่ผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบโลกขยับขึ้นจาก 26.62 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล (เมื่อ 24 มี.ค. 2563) เป็น 31.96 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล (เมื่อ 15 พ.ค. 2563) และจากการไม่ปรับเงินส่งเข้ากองทุนฯเพิ่มในครั้ง ทำให้สภาพคล่องกองทุนฯในส่วนของน้ำมันติดลบเดือนละประมาณ 37 ล้านบาท

โดยผู้ใช้น้ำมันจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตามอัตราเดิม คือ น้ำมันเบนซิน  ส่งเข้า 6.58 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 ส่งเข้า 0.62 บาทต่อลิตร,แก๊สโซฮอล์ E20 ได้รับการชดเชยราคา 2.28 บาทต่อลิตร,แก๊สโซฮอล์E85 ได้รับการชดเชยราคา 7.13 บาทต่อลิตร,ดีเซลB7 ส่งเข้า 1 บาทต่อลิตร,ดีเซลB10 ได้รับชดเชย 2.50 บาทต่อลิตร และดีเซลB20 ได้รับชดเชย 4.16 บาทต่อลิตร

ด้านผู้ค้าน้ำมัน ได้ประกาศปรับราคาน้ำมันทุกชนิดขึ้น 0.50 บาทต่อลิตร เว้น E85 เพิ่มขึ้น 0.30 บาทต่อลิตร มีผล 19 พ.ค. 2563 เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป โดยราคาขายปลีกจะเป็นดังนี้ เบนซิน อยู่ที่ 27.16  บาทต่อลิตร, โซฮอล์ 95 อยู่ที่  19.75 บาทต่อลิตร,โซฮอล์ E20 อยู่ที่ 18.24 บาทต่อลิตร, โซฮอล์91 อยู่ที่19.48 บาทต่อลิตร,โซฮอล์ E85 อยู่ที่  16.69 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่  19.29 บาทต่อลิตร, ดีเซลB10 อยู่ที่ 16.29 บาทต่อลิตร, ดีเซล B20 อยู่ที่ 16.04 บาทต่อลิตร และดีเซลพรีเมี่ยม อยู่ที่ 23.14 บาทต่อลิตร

Advertisment