บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ชี้ทิศทางเทคโนโลยีพลังงานทดแทน 3 ระยะที่จะเกิดขึ้นในโลกอนาคต โดยระยะสั้นยังคงเน้นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และพลังงานลม ส่วนระยะกลางพุ่งเป้าไปที่พลังงานความร้อนใต้พิภพ ที่คาดว่าปี 2573 มีเทคโนโลยีเจาะใต้ดินลึกเกิน 3 กิโลเมตรได้ ช่วยปลดล็อคพลังงานโลก ส่วนระยะยาว คือ พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่น ที่ราคาถูกจะเข้ามามีบทบาทกับโลกต่อไป
นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เปิดเผยทิศทางการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของโลกในอนาคตว่า ทิศทางพลังงานทดแทนของโลกในระยะสั้นตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี พ.ศ. 2573 ยังคงโดดเด่นในด้านของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ หรือ Solar PV เพราะเป็นแหล่งพลังงานที่ราคาถูกที่สุด โดยปัจจุบันมี Solar PV อยู่ 10-15% ของการใช้ทั้งหมดจากทั่วโลก แต่คาดการณ์ว่าในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งจะเป็นการเติบโตแบบ 100%
นอกจากนี้ยังมีพลังงานลมบนชายฝั่ง (Onshore Wind) ที่เริ่มคุ้มทุนในบางพื้นที่แล้ว แต่ขึ้นกับศักยภาพของลมว่าคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้าหรือไม่ แม้เมืองไทยจะมีกระแสลมไม่แรงเท่ายุโรปและอเมริกา แต่ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีกังหันลมสำหรับความเร็วลมต่ำ หรือ Low speed wind ก็พัฒนาขึ้นมาก ซึ่งอาจนำมาใช้กับประเทศไทยได้
ทั้งนี้เมื่อมองในส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่าการเติบโตด้านพลังงานทดแทนยังช้ากว่าระดับโลกและคงตัวในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินมากกว่า แต่ Solar PV และ ไฟฟ้าพลังงานน้ำ ก็พัฒนาและเติบโตขึ้นมาก แต่ยังไม่สามารถเป็นพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าได้ เนื่องจากพลังงานทดแทนยังไม่เสถียร และยังขึ้นกับสภาพอากาศเป็นหลัก แต่คาดว่าในปี 2583 ราคาแบตเตอรี่สำหรับกักเก็บไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกลง และสามารถใช้เป็นพลังงานหลักทดแทนถ่านหินได้ ซึ่งอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของไฟฟ้าพลังงานทดแทนได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของ World Economic Forum พบว่า ในปี 2566 โลกมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อการบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอน (Decarbonization) กว่า 20,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯและคาดการณ์ว่าในแต่ละปีจะมีเงินลงทุนเติบโตเฉลี่ย 24.5% ไปจนถึงปี พ.ศ. 2576 ดังนั้นต่อไปจะเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน บริษัท อินโนพาวเวอร์ฯ ได้ให้ความสนใจติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อจะได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้กลับมาใช้ในเมืองไทยในอนาคต
ส่วนในระยะกลาง โลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมากกับ พลังงานความร้อนใต้พิภพ หรือ Geothermal โดยในการประชุมของ บิล เกตส์ ที่มีเครือข่าย Decarbonization จากทั่วโลกมาร่วมประชุมด้วยนั้น มีการระบุว่า ขณะนี้กำลังมีเงินทุนจำนวนมากเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีที่จะทำให้ทั่วโลกสามารถใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพได้ไม่ว่าลักษณะทางธรณีวิทยาของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไรก็ตาม
โดยปัจจุบันเทคโนโลยีการขุดเจาะสามารถทนความร้อนใต้พิภพได้เพียง 2-3 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งค่าความร้อนระดับดังกล่าวสามารถผลิตไฟฟ้าได้น้อย ดังนั้นหากพัฒนาให้สามารถทนความร้อนได้เกิน 3 กิโลเมตร จะสามารถปลดล็อคแหล่งพลังงานใหม่ที่ไม่มีที่สิ้นสุดขึ้นมาใช้ได้ ทั้งนี้ถ้าทำได้จริงคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 จะสามารถนำเทคโนโลยีนี้ออกมาจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ โดยอาจจะเริ่มต้นเห็นเทคโนโลยีดังกล่าวในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหากพัฒนาได้จริงอาจจะกลายเป็นพลังงานหลักแทนก๊าซธรรมชาติในไทยก็เป็นได้
ส่วนในระยะยาว โลกกำลังมองไปที่พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่น (Fusion power) หรือกระบวนการเกิดพลังงานแบบดวงอาทิตย์จำลอง ซึ่งในปี 2566 สหรัฐฯ มีการพัฒนานิวเคลียร์ฟิวชั่นแบบก้าวกระโดด โดยสามารถผลิตพลังงานออกมาได้มากกว่าพลังงานที่ใช้ไป เช่น การใช้พลังงาน 1 หน่วยในการทำนิวเคลียร์ฟิวชั่นแล้ว ยังสามารถผลิตไฟฟ้าออกมาได้มากกว่า 1 หน่วย เป็นต้น ซึ่งอาจจะเริ่มถึงจุดที่สามารถพร้อมใช้ได้ในอนาคต โดยบริษัท Microsoft ได้เซ็นสัญญากับหน่วยงานที่ผลิตได้ว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ฟิวชั่นในปี 2571 แต่ยังเป็นไซต์ขนาดเล็กอยู่
ทั้งนี้เมื่อเทียบค่าไฟฟ้ากับเทคโนโลยีที่กล่าวมาทั้งหมด คาดว่า ราคาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชั่นน่าจะถูกสุด รองลงมาคือ ความร้อนใต้พิภพ, พลังงานทดแทนทั่วไปและที่แพงสุดในขณะนี้ยังคงเป็นพลังงานจากไฮโดรเจน
นายอธิป กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น เชื่อว่ายังคงเดินหน้าพลังงานทดแทนที่ทำอยู่ต่อไป สำหรับนักธุรกิจไทยในปี 2568 จำเป็นต้องเน้นสร้างความแข็งแกร่งด้วยการลดต้นทุน โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการลดคาร์บอนฯ พร้อมกับคำนึงถึงความยั่งยืนในธุรกิจด้วย ซึ่งคาดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าผู้ประกอบการไทยอาจได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดด้านการลดคาร์บอนฯ ซึ่งจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อม
ส่วนกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการลดโลกร้อน ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่การเปลี่ยนแปลงย่อมมีโอกาส ซึ่งไทยอาจจะหันไปลงทุนกับจีนแทน เนื่องจากปัจจุบันจีนได้ผลิตสินค้าด้านเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ออกมามาก ดังนั้นจะต้องเร่งการจำหน่ายและพัฒนาตลาดอีกมาก