อบก. เปิดตัว CFO Platform ช่วยธุรกิจลดการปล่อยคาร์บอน

823
- Advertisment-

อบก. เปิดตัว แพลตฟอร์มรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร (Carbon Footprint for Organization Platform: CFO Platform) เพื่อส่งเสริมให้องค์กรจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ระดับองค์กร ได้สะดวกขึ้น สอดรับกับเป้าหมายประเทศที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2065

จากซ้ายไปขวา นที สิทธิประศาสตร์ พิชัย จิราธิวัฒน์ ชญานันท์ ภักดีจิตต์ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา และ เกียรติชาย ไมตรีวงษ์

ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวง ทส.โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้พัฒนาการรายงาน CFO ในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อยกระดับไปสู่ การรับรอง Net Zero ในระดับองค์กร ซึ่งจะทำให้องค์กรภาคธุรกิจ สามารถบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืนและต่อเนื่อง โดย ภาคเอกชน ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สำคัญของกลไกการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เพื่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ในอนาคต

- Advertisment -

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า ในการประชุม COP 26 ประเทศไทย ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality )ในปี 2050 และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ( Net Zero Emissions ) ในปี 2065 ทำให้ ทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการต่างมุ่งสู่การผลิตและการบริโภคแบบคาร์บอนต่ำ  ดังนั้น ภาคการผลิตและบริการของไทย จึงต้องเร่งปรับตัวเตรียมความพร้อม โดย CFO Platform จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ธุรกิจเรียนรู้และประเมินตนเองได้ในการปรับลดการปล่อยคาร์บอนในองค์กร เพื่อมุ่งสู่มาตรฐานและการได้รับการยอมรับในระดับสากล  

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า ปัจจุบันมีองค์กรที่มีการประเมินและผ่านการรับรองจาก อบก.  แล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,033 องค์กร แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อเป้าหมาย Net Zero ตลอดจนสามารถใช้ข้อมูล CFO รายงานต่อสาธารณะ อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในเวทีการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถประเมิน CFO ได้สะดวกยิ่งขึ้น อบก. จึงได้พัฒนารูปแบบการประเมินให้อยู่ในรูปแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือ “CFO Platform” ขึ้น โดยสามารถใช้เป็นเครื่องมือประเมิน CFO ตามมาตรฐานที่กำหนดได้ถูกต้อง สะดวก และรวดเร็ว รวมทั้งรองรับระบบการรับรอง Net Zero ที่ อบก. ได้พัฒนาขึ้นใหม่ อบก. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า CFO Platform นี้ จะสามารถช่วยลดภาระในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก  เป็นเครื่องมือในการกำหนดเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่ Net Zero และใช้ในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้แก่ผู้ประกอบการไทยต่อไป

นายพิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการพลังงาน หอการค้าไทย กล่าวว่ากระแสโลกเรื่อง Climate Change เป็นเรื่องที่สำคัญมากและทุกคนต้องลงมือแก้ปัญหานี้ด้วยกันโดยเฉพาะภาคธุรกิจ เป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ตลอดสายโซ่อุปทาน โดยต้องมุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจของตัวเองให้ได้ก่อน เช่น เปลี่ยนมาใช้การขนส่งคาร์บอนต่ำ ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า การใช้บรรจุภัณฑ์ และส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคิด ทำ ใช้ ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การบริหารจัดการขยะ ตลอดจนการลงทุนในธรุกิจใหม่ ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเด็นที่ฝากถึงภาครัฐ ในอนาคตอันใกล้ควรผลักดันให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัด “การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ COP เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และแสดงผลงานความสำเร็จในการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย สู่สายตาชาวโลกว่าคนไทยทำได้และทำได้อย่างดี บนมาตรฐานที่โลกต้องยอมรับ

นายนที สิทธิประศาสตร์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าในส่วนของสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยทางสถาบันฯ จะให้บริการภาคเอกชนในการเป็นหน่วยงานสอบทวนการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งระดับองค์กร และระดับผลิตภัณฑ์ โดยมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมเพื่อบริการให้กับสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จากปัจจุบันที่ยังมีหน่วยงานสอบทวนจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการในการใช้บริการ

นอกจากนี้ทางสถาบันฯ ยังวางแผนในการให้บริการการสอบทวนครอบคลุมมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในกระบวนการสอบทวนของทาง EU สำหรับ “CFO Platform” ที่เปิดตัวในวันนี้ ถือเป็นการยกระดับในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กรในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ช่วยให้เอกชนรายงานได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ช่วยกันคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดด้วยตนเอง โดยอาจเริ่มต้นจาก Low Technology ซึ่งค่าใช้จ่ายยังไม่สูง จากนั้นจะมีการเสริมด้วยกลไกคาร์บอนเครดิต หรือการชดเชยคาร์บอน สำหรับในภาพรวมของประเทศนั้นต้องให้ความสำคัญในเรื่องการปรับอัตราส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ควรเพิ่มให้มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยใช้พลังงานสะอาดได้เร็วขึ้น

สำหรับการจัดงานเปิดตัว CFO Platform ครั้งนี้ เป็นการจัดงานในรูปแบบ “Carbon Neutral Event”  คือมีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดงานจำนวน 5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และจัดหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชยเท่ากับปริมาณการปล่อยทั้งหมด โดย Central Group และสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนให้เกิดการชดเชยคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER เพื่อให้งานเปิดตัว CFO Platform ในวันนี้ ได้รับการรับรองเป็น Carbon Neutral Event จาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ต่อไป

Advertisment