บอร์ด กฟผ.เห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวหรือสัญญา Global DCQ กับปตท. ที่ผ่านขั้นตอนอัยการสูงสุดแล้ว โดย ปตท.จะเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติป้อนโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั้งหมด (ยกเว้นโรงไฟฟ้าน้ำพอง) เป็นระยะเวลา 10 ปี แต่เปิดช่องให้กฟผ.นำเข้า LNG ได้เองด้วยในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี คาดลงนามกันได้ในเร็วๆนี้ ก่อนที่สัญญาระยะสั้นที่ใช้ในปัจจุบันจะหมดอายุลงในวันที่ 30 มิ.ย.2563
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวหรือสัญญา Global DCQ ที่ให้ ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้า ทั้งหมดของกฟผ. (ยกเว้นโรงไฟฟ้าน้ำพอง) เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยร่างสัญญาดังกล่าว ได้ผ่านการตรวจสอบและเห็นชอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไป กฟผ.จะต้องมีการลงนามในสัญญากับ ทางปตท.และดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป โดยคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญากันในเร็วๆนี้ เพื่อให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2563 เป็นต้นไป เนื่องจากสัญญาซื้อขายก๊าซระยะสั้นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะหมดอายุในวันที่ 30 มิ.ย.2563
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การบรรลุข้อตกลงในการเจรจาสัญญา Global DCQ ระหว่าง กฟผ.และ ปตท. เป็นไปตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จากที่ผ่านมา ที่สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาว สิ้นสุดอายุไปตั้งแต่ ปี 2557 และ กฟผ.เลือกแนวทางการทำสัญญาระยะสั้นแบบปีต่อปี มาโดยตลอด
ก่อนหน้านี้ บอร์ด กฟผ. เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2562 ได้เห็นชอบในหลักการ ในสัญญา Global DCQ ไปแล้ว เพื่อไปจัดทำรายละเอียดเป็นสัญญาฉบับสมบูรณ์ และส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ ซึ่งเดิม คาดว่าจะเสนอบอร์ด กฟผ. เห็นชอบได้ตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา แต่ก็มีการเลื่อนเวลามาจนเสนอบอร์กฟผ.เห็นชอบได้เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2563
สำหรับสาระสำคัญของสัญญา Global DCQ ในครั้งนี้ จะมีอายุประมาณ 10 ปี เริ่มต้นสัญญาตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ค.2563 โดย ปตท.จะเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติ เพื่อป้อนโรงไฟฟ้า ทุกโรงของกฟผ. อาทิ โรงไฟฟ้าบางปะกง วังน้อย พระนครเหนือ พระนครใต้ จะนะ ยกเว้น โรงไฟฟ้าน้ำพอง ที่จะมีการเจรจาเพื่อทำสัญญากันในภายหลัง ซึ่งในสัญญาซื้อขายก๊าซดังกล่าว จะเปิดช่อง ให้ กฟผ. สามารถนำเข้า LNG เพื่อนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเองได้ด้วยในปริมาณปีละ 1 ล้านตัน