พลังงานห่วงการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขยะชุมชนล่วงหน้าโดยที่ยังไม่มีการออกประกาศระเบียบหลักเกณฑ์การรับซื้อที่ถูกต้องตามขั้นตอนกฏหมาย จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชี้นโยบายที่จะให้มีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจำนวน 400 เมกะวัตต์ ตามแผน PDP2018 rev1 ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ โดยยังต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาอนุมัติหลักเกณฑ์การเปิดรับซื้อก่อน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยถึงกรณีการเปิดตัวโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่ดำเนินการโดยเอกชนในจังหวัดต่างๆ โดยที่มีการระบุถึงการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้ว ว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ยังไม่ได้มีการออกประกาศระเบียบหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จำนวน 400 เมกะวัตต์ แต่อย่างใด เนื่องจากตามขั้นตอนทางกฏหมายต้องรอนโยบายจากภาครัฐที่จะต้องนำเสนอหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบก่อน จากนั้นทาง กกพ.จึงจะประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้
โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนรอบใหม่ ที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ปริมาณ 400 เมกะวัตต์เข้าระบบในปี 2565 ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของ กพช.ก่อน
ด้านแหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้หารือกับ กกพ. เพื่อเตรียมความพร้อมเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ในเร็วๆ นี้ โดยกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเสนอต่อ กพช. โดยเร็ว เนื่องจากโรงไฟฟ้าขยะเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการจัดการปัญหาขยะอย่างเหมาะสม และลดปัญหาขยะในประเทศ
อย่างไรก็ตามขั้นตอนเบื้องต้นผู้เข้าร่วมโครงการต้องเสนอโครงการให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาคุณสมบัติและความเหมาะสมก่อน จากนั้นเมื่อ กพช.เห็นชอบโครงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะแล้ว ทาง กกพ. จึงจะประกาศรับซื้อ และผู้ที่ผ่านการพิจารณามาจากกระทรวงมหาดไทยแล้วจึงจะมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการได้
นอกจากนี้กระทรวงพลังงานยังไม่ได้รับทราบกรณีที่มีผู้ประกอบการเอกชนไปทำสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นการล่วงหน้าแต่อย่างใดเช่นกัน โดยยืนยันว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายที่ถูกต้อง