สำนักงาน กกพ. เปิดเวทีฟังความเห็น “โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม)” 17 ก.ย. 2566 นี้

748
ขอขอบคุณภาพจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็น “โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม)” ในวันที่ 17 ก.ย. 2566 นี้ ระบุเป็นโรงไฟฟ้าที่ทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ชุดที่ 1 และ 2 โดยจะก่อสร้างแบ่งเป็น 3 หน่วยการผลิต หน่วยละ 830 เมกะวัตต์ รวมเป็น 2,490 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการฯ  50,807.8 ล้านบาท ชี้เมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าพระนครใต้หน่วยอื่นๆ จะทำให้มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 4,489.6 เมกะวัตต์ จึงต้องจัดทำรายงาน EHIA คาดก่อสร้าง 5 ปี จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสำหรับหน่วยที่ 1 ในปี 2569 และหน่วยที่ 2 -3ในปี 2570  

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินงานที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) ใน “โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม)” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นในวันที่ 17 ก.ย. 2566 เวลา 8.00-12.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ 1 เทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ รวมถึงเปิดให้ประชุมทางไกลผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meeting  อย่างไรก็ตามจะรับฟังความเห็นต่อเนื่องไปจนถึง 2 ต.ค. 2566

ทั้งนี้จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 Revision 1 กำหนดให้ กฟผ.พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักและน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรอง เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

- Advertisment -

โดยภายหลังมีโครงการดังกล่าวจะทำให้ภาพรวมขนาดกำลังผลิตติดตั้งสูงสุดของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เท่ากับ 4,489.6 เมกะวัตต์  ซึ่งเข้าข่ายตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่กำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 3,000 เมกะวัตต์ ขึ้นไปเป็นโครงการที่ต้องทำรายงาน EHIA

สำหรับภาพรวมโครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ จะประกอบด้วย ส่วนที่ 1.โรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม) มี 3 หน่วยการผลิต ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งสูงสุดหน่วยละ 830 เมกะวัตต์ (รวมเป็น 2,490 เมกะวัตต์) ก่อสร้างเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ชุดที่ 1 ซึ่งปลดออกจากระบบในปี 2563 และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ชุดที่ 2 ที่ปลดออกจากระบบในปี 2565 สำหรับส่วนที่ 2 คือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 3 ที่ยังผลิตอยู่ มีขนาดกำลังการผลิต 767.6 เมกะวัตต์ และส่วนที่ 3 คือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทนระยะที่ 1 มีกำลังการผลิต 1,232 เมกะวัตต์  ดังนั้นทำให้ภาพรวมโครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้เมื่อแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมสูงสุด 4,489.6 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามในส่วนของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม) ตั้งอยู่ภายในพื้นที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ตำบลบางโปรง อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ ขนาดพื้นที่โครงการรวมประมาณ 111 ไร่ โดยกำหนดพื้นที่ศึกษาการทำรายงาน EHIA ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากขอบเขตพื้นที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ในอำเมืองสมุทรปราการ 8 ตำบล, อำเภอพระประแดง 13 ตำบล, อำเภอพระสมุทรเจดีย์ 5 ตำบล และในพื้นที่กรุงเทพฯ ของเขตทุ่งครุ 2 แขวง

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี โดยกำหนดให้โรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม) หน่วยที่ 1 จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2569 ส่วนหน่วยที่ 2 และ 3 กำหนด COD ปี 2570 โดยใช้งบประมาณดำเนินโครงการทั้งสิ้น 50,807.8 ล้านบาท

สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับฟังความเห็นสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้จนถึงวันที่ 16 ก.ย. 2566 หรือศึกษารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของ สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th   

Advertisment