สำนักงาน กกพ. เตรียมพร้อมไฟฟ้าสีเขียว 10,000 ล้านหน่วย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ เลขาธิการ กกพ. ย้ำว่า ไฟฟ้าสีเขียวไม่กระทบต่อค่าไฟภาคครัวเรือน

276
- Advertisment-

เปิดแผน สำนักงาน กกพ. ปี 2568 เตรียมไฟฟ้าสีเขียว 10,000 ล้านหน่วย ดึงการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ รองรับความต้องการภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และส่งออก ปรับลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดโลกร้อน โดยไม่กระทบต่อค่าไฟที่เรียกเก็บกับประชาชนผู้ใช้พลังงานตามปกติ ตอบโจทย์ทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศในยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน

ไฟฟ้าสีเขียว เป็นไฟฟ้าที่ผลิตมาจากพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำจากเขื่อน ที่เตรียมไว้จำนวนรวม 10,000 ล้านหน่วยนั้น แบ่งเป็นไฟฟ้าสีเขียวแบบที่ไม่เจาะจงแหล่งที่มาของแหล่งผลิตไฟฟ้า (Utility Green Tariff 1 หรือ UGT 1) จำนวน 2,000 ล้านหน่วยต่อปีและไฟฟ้าสีเขียวแบบเจาะจงที่มา (Utility Green Tariff 2 หรือ UGT 2) อีกประมาณ 8,000 ล้านหน่วยต่อปี ไม่นับรวมไฟฟ้าสีเขียว ตามนโยบายโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Direct Power Purchase Agreement หรือ Direct PPA ที่ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

สำหรับความคืบหน้าของ UGT 1 นั้น จากที่สำนักงาน กกพ. ได้ออกประกาศ เปิดให้ภาคธุรกิจที่สนใจลงทะเบียนแจ้งความต้องการที่จะขอใช้ไฟฟ้าสีเขียวในแพลตฟอร์มของทั้ง 2 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเปิดรับคำขอใช้ไฟฟ้าสีเขียว ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568

- Advertisment -

โดยการไฟฟ้า จะแจ้งผลการจัดสรรไฟฟ้าสีเขียว UGT 1 และให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลงนามในข้อตกลงที่จะรับบริการ อัตราค่าไฟฟ้า UGT 1 จะบวกเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติหน่วยละประมาณ 6 สตางค์ โดยแหล่งผลิตไฟฟ้าที่จะป้อนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า UGT 1 ในปี 2568 จำนวน 2,000 ล้านหน่วย จะมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเขื่อนของ กฟผ. (อัพเดท ณ วันที่ 23 มกราคม 2568 มีผู้สนใจยื่นขอ UGT 1 แล้ว ประมาณ 600 ล้านหน่วย)

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนสิริกิติ์ (ขอบคุณภาพจาก กฟผ.)

ในขณะที่ UGT 2 ซึ่งเตรียมปริมาณไฟฟ้ารองรับความต้องการเอาไว้ประมาณ 8,000 ล้านหน่วยต่อปีนั้น คาดว่า จะเริ่มเปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่สนใจลงทะเบียนสมัครใช้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2568 นี้

ส่วน Direct PPA อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการการใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม และการกำกับติดตามการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Code) ตามนโยบาย Direct PPA ซึ่งทางสำนักงาน กกพ.ทำงานร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ,) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เพื่อกำหนดกรอบการดำเนินงานร่วมกันตามมติ กพช. โดยในส่วนงานที่ สำนักงาน กกพ. รับผิดชอบนั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2568 นี้

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ทั้ง UGT 1 UGT 2 และ Direct PPA สำนักงาน กกพ. ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการและการเข้าไปกำกับดูแล ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกันทั้งหมด เพื่อรองรับปริมาณไฟฟ้าสีเขียวที่จะเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น โดยในระยะต่อไปจะมีการสร้างตลาดกลาง (Market Place) ที่จะเข้ามาสนับสนุนการซื้อขายพลังงานสีเขียว เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และเอื้อต่อการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของประเทศ ที่เชื่อมโยงกับสากลได้

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ.

อย่างไรก็ตาม ดร.พูลพัฒน์ ชี้ให้เห็นว่า การกำกับกิจการพลังงานของไทยในยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน หรือ Energy Transition จากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดนั้น มีความซับซ้อนและย้อนแย้งอยู่ในตัว เพราะในปัจจุบันการลงทุนเพื่อให้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด สามารถรองรับความต้องการใช้ได้ตลอดเวลาและเป็นไฟฟ้าที่มีคุณภาพนั้น ยังมีต้นทุนที่สูง ในขณะที่โจทย์นโยบายภาครัฐ ต้องการเห็นอัตราค่าไฟฟ้าที่ไม่แพง จูงใจนักลงทุน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่สร้างภาระต้นทุนเพิ่มให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าโดยทั่วไป ดังนั้น สำนักงาน กกพ. จึงต้องบริหารจัดการให้สามารถเข้าไปกำกับดูแลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ค่าไฟฟ้ามีความเหมาะสม เป็นธรรม ไม่ถูกเกินไปและไม่แพงเกินไป เป็นอัตราที่ยังดึงดูดการลงทุนและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

โดยแนวทางการกำกับดูแลไฟฟ้าสีเขียวจะไม่ปิดกั้นเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งยังมีความพยายามที่จะเพิ่มการแข่งขันในจังหวะเวลาที่เหมาะสมเพื่อปูทางไปสู่การเปิดเสรีที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ เช่น การกำหนดปริมาณให้เหมาะสม เพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเพื่อการส่งออกเหมือนเป็นใบเบิกทางสำหรับการค้าการลงทุนในเวทีสากล เพราะหากกำหนดไฟฟ้าสีเขียวปริมาณมากจนเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวม และกระทบต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศได้ ดังนั้น โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว จึงต้องแยกออกจากค่าไฟทั่วไป โดยให้ผู้ที่ต้องการใช้เป็นผู้รับภาระที่เพิ่มขึ้นจากอัตราปกติ

ดร.พูลพัฒน์ ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการเรื่องไฟฟ้าสีเขียวไว้ว่า “ยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน หรือ Energy Transition เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้น สำหรับการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า โดยที่โอกาสก็คือ จะกำกับดูแลอย่างไรให้อัตราค่าไฟฟ้าและคุณภาพไฟฟ้าสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลกรวมถึงนักธุรกิจของไทยเองที่กำลังมองหาแหล่งพลังงานสะอาด เพื่อการส่งออกไปต่างประเทศได้โดยที่ไม่มีปัญหาเรื่องของการกีดกันทางการค้า ส่วนความท้าทาย คือ จะกำกับดูแลอย่างไรไม่ให้เกิดต้นทุนที่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้ากับประชาชนทั่วไป และไม่ทำให้ประเทศสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น จึงต้องทำควบคู่กันไปโดยแยกส่วนของไฟฟ้าสะอาดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อภาคธุรกิจที่มีความต้องการใช้โดยเฉพาะออกจากส่วนของภาคประชาชนทั่วไป ภาครัฐจะต้องดูแลให้เกิดความมั่นคง มีเสถียรภาพ โดยผู้ที่ใช้ไฟฟ้าสะอาดจะต้องเป็นผู้ที่รับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”

Advertisment