สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.)ออกประกาศให้บริษัท สยาม พาวเวอร์. จำกัด ได้เข้าร่วมในโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน เป็นรายที่ 4 โดยเสนอขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ เมื่อรวมทั้ง 4 รายแล้วมีการเสนอขายไฟฟ้าแล้ว 26.4 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายรับซื้อ 77.9 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านการพิจารณาจะต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติมพร้อมลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายใน120วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC)รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2562ที่ผ่านมา น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)ได้ลงนามในประกาศของสำนักงานเรื่องรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in-tariff-FIT ฉบับที่4 ซึ่งได้แก่ บริษัท สยาม พาวเวอร์. จำกัด อยู่ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี โดยโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่ ม.2 ต.คลองขวาง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 9.5 เมกะวัตต์ โดยมีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายอยู่ที่ 8 เมกะวัตต์
โดยบริษัทสยาม พาวเวอร์ จะต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติมให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย(การไฟฟ้านครหลวง) ตามกำหนดและลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายภายใน 120 วัน ถัดจากวันประกาศรายชื่อ หรือนับตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2562 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ประกาศของสำนักงาน กกพ.ดังกล่าวเป็นไปตามมติที่ประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2562 ที่เห็นชอบให้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติโครงการดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ กกพ. www.erc.ot.th
- สำหรับ “โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(Feed-in-tariff-FIT)” นั้นเป็นรูปแบบโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(Quick Win Projects) ซึ่งที่ผ่านมามีการคัดเลือกไว้แล้วจำนวน 12 โครงการ กำลังผลิตที่เสนอขาย 77.9 เมกะวัตต์ โดยมีการกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(SCOD)ในปี2564 แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล และตั้งนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงได้สั่งให้มีการพิจารณาโครงการดังกล่าวใหม่ อีกทั้งขณะนั้นโครงการติดปัญหาข้อกฎหมาย รักษาความสะอาด ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเมื่อปรับแก้กฎหมายแล้ว กกพ. จึงออกประกาศให้ทั้ง 12 รายที่พร้อมให้เสนอเข้าร่วมโครงการได้ โดยจะเปิดรับไปจนถึง 31 มี.ค. 2562 นี้
โดยการรับซื้อไฟฟ้าโครงการนี้ ยังเป็นโควต้าเดิมในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ หรือ PDP2015 เดิม ที่กำหนดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ในปี2579
ที่ผ่านมามีผู้ผ่านการพิจารณาและได้เข้าร่วมโครงการแล้ว 3 โครงการ ได้แก่
1. บริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด(จ.หนองคาย) มีกำลังผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และเสนอขายไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์
2.บริษัท อัลไลแอนซ์ คลีนเพาเวอร์ จำกัด (จ.กระบี่) มีกำลังผลิตติดตั้ง 5 เมกะวัตต์ และเสนอขายไฟฟ้า 4.4 เมกะวัตต์
3.บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ ต.น้ำคอก อ.เมือง จ.ระยอง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.8 เมกะวัตต์ และมีปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์
โดยบริษัท สยาม พาวเวอร์. จำกัด ถือเป็นรายที่4 ที่ทางสำนักงาน กกพ. ประกาศรายชื่อออกมา ซึ่งรวมทั้ง 4 โครงการมีปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายทั้งสิ้น 26.4 เมกะวัตต์