สารพัดปัญหารุมเร้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน ชี้งบปี 64 กว่า 6,500 ล้านยังจัดสรรไม่ได้

1608
- Advertisment-

ชี้สารพัดปัญหารุมเร้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถ อนุมัติงบประมาณโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุน ประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 6,500 ล้านบาทได้ ในขณะที่ยังไม่สามารถแต่งตั้งผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) คนใหม่ แทน นายธนธัช จังพานิช ที่ลาออกไปตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค.2563 รวมทั้ง ปัญหา​การจัดทำข้อมูลรายงานสถานะโครงการที่อนุมัติจัดสรรตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 ถึง 2561 เสนอสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพราะของเดิมไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีรายได้จากการจัดเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน กำลังเผชิญปัญหารุมเร้าหลายเรื่องที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ โดยพบว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถหาตัว ผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) คนใหม่ แทน นายธนธัช จังพานิช ที่ลาออกไปตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค.2563 ได้ เพราะไม่มีบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามที่ประกาศ

โดย ส.กทอ. ได้มีประกาศเรื่องการพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครตำแหน่ง ผู้จัดการ ส.กทอ. ที่มี ศาสตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่ลงนามในประกาศเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ระบุว่า

- Advertisment -

ตามที่มีประกาศคณะทำงานสรรหาผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนฯ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 เรื่องการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนฯ นั้น ขณะนี้การพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครได้เสร็จสิ้นแล้ว และได้ข้อสรุปว่า ไม่มีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเฉพาะเป็นไปตามประกาศคณะทำงานสรรหาผู้จัดการสำนักงานกองทุนฯ ดังนั้นปัจจุบัน นายเพทาย หมุดธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน จึงยังคงรักษาการตำแหน่งผู้จัดการกองทุนฯ ต่อไปก่อน

ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาอนุมัติงบประมาณโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2564 วงเงิน 6,500 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ก็ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน แม้ก่อนหน้านี้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และในฐานะประธานอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ระบุว่า คณะกรรมการพิจารณาโครงการฯ จะนำโครงการที่ผ่านการพิจารณาเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กองทุนฯ ช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2564 ก็ตาม

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า​ ความล่าช้าดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินงานไม่คล่องตัว ประกอบกับมีผู้สนใจเสนอโครงการและขอใช้งบประมาณจำนวนมากกว่ากรอบวงเงินที่มีอยู่ จึงต้องพิจารณาแต่ละโครงการอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตามหากการพิจารณาใช้งบฯ ปี 2564 ดังกล่าวล่าช้าออกไป จะส่งผลกระทบให้เกิดความล่าช้าของงบฯ โครงการในปี 2565 ที่ปกติต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 นี้ด้วย

สำหรับการจัดสรรเงินกองทุนฯปีงบประมาณ 2564 ตามแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน มีกรอบวงเงินอยู่ที่ 6,500 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. กลุ่มงานตามกฎหมาย จำนวน 200 ล้านบาท 2. กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน จำนวน 500 ล้านบาท 3. กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ จำนวน 355 ล้านบาท 4. กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 200 ล้านบาท

5.กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร จำนวน 450 ล้านบาท 6. กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SMEs) อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ จำนวน 2,200 ล้านบาท และ 7.กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 2,400 ล้านบาท และแผนบริหารจัดการ ส.กทอ. จำนวน 195 ล้านบาท

โดยกลุ่มงานที่ 7 จะเน้นสร้างงานสร้างรายได้ กระจายครอบคลุม 76 จังหวัด หรือ จัดสรรงบ จังหวัดละ 25 ล้านบาท รองรับการยื่นเสนอโครงการฯ ผ่านคณะกรรมการบูรณาการท้องถิ่น ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน คัดกรองด่านแรก ก่อนส่งต่อคณะทำงานกลั่นกรองฯ พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับเรื่องสุดท้ายที่เป็นปัญหาหมักหมมและสร้างความยุ่งยากในการจัดการแก้ไขให้กับ สำนักงานกองทุนฯ คือ กรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตั้งข้อสังเกตเรื่องการรายงานบัญชีเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ระหว่างปี 2558-2561 แสดงข้อมูลค่าใช้จ่ายแผนงานไม่ตรงสถานะจริง และบันทึกระบบบัญชีไม่ถูกต้อง ทำให้ สตง. ไม่สามารถตรวจสอบหลักฐานบัญชีได้ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานบริหารกองทุนฯ ได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน( สนพ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน( พพ.) ไปจัดทำข้อมูลรายงานสถานะโครงการที่อนุมัติจัดสรรตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 ถึง 2561 ให้เสร็จภายในปีงบประมาณ 2564 เพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ( กพช.) ต่อไป

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รายงานความคืบหน้าการตรวจสอบบัญชีกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 ผ่านมา โดย สตง.แสดงความเห็นต่อการจัดทำงบการเงินประจำปีของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ระหว่างวันที่ 30 ก.ย. 2558-30 ก.ย. 2561 โดยระบุข้อสังเกตไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การแสดงข้อมูลค่าใช้จ่ายแผนงาน โครงการ ไม่ตรงกับสถานะที่เป็นจริง ส่งผลให้ไม่สามารถตรวจสอบความมีอยู่จริงและการใช้จ่ายเงินที่แท้จริงของแต่ละโครงการที่มีการเบิกจ่ายเงินจากกองทุนฯ ได้

  1. การปิดโครงการและส่งคืนเงินเหลือจ่ายนั้น ทาง กองทุนฯ ได้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายแผนงาน โครงการทั้งจำนวน แต่กองทุนฯ มีข้อมูลไม่ครบถ้วนในการบันทึกบัญชีและการจัดทำรายงานการเงิน และ 3. การบันทึกรายการบัญชีไม่ตรงตามระบบบัญชีกองทุนฯ ทำให้ สตง. ไม่สามารถหาวิธีตรวจสอบหลักฐานการสอบบัญชีปี 2558 ถึงปี 2561 เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายแผนงานโครงการที่ถูกต้อง เนื่องจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้เบิกเงินกองทุนฯ รายงานสรุปผลการใช้จ่ายเงินโครงการและนำเงินคงเหลือส่งคืนเมื่อสิ้นปีงบประมาณไม่ครบถ้วน อีกทั้งกองทุนฯ ไม่ได้ติดตามการสรุปผลการใช้จ่ายเงินดังกล่าว ส่งผลให้กองทุนไม่ทราบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงของแต่ละโครงการ

นอกจากนี้ได้รายงาน กพช. ถึงความคืบหน้า กรณีคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) จัดตั้งคณะทำงานเพื่อเร่งแก้ไขการปิดบัญชีโครงการคงค้าง และการปิดบัญชีในภาพรวมของปีงบประมาณ 2557 ถึง 2561 ว่าล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2564 คณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติมอบหมายให้ ส.กทอ. และหน่วยงานผู้เบิก ได้แก่ สนพ. และ พพ. จัดทำข้อมูลรายงานสถานะโครงการที่อนุมัติจัดสรรตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 ถึง 2561 และเบิกจ่ายเงินกองทุนตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 จนถึงปีที่สิ้นสุดการเบิกจ่ายด้วย

ปัญหาทั้งหมดที่รุมเร้า และส่งผลต่อการบริหารจัดการกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จึงต้องรอประธานบอร์ดกองทุนฯ ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงมาสะสางโดยเร็วเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสามารถจัดสรรเงินกองทุนฯไปใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์

Advertisment