สั่ง สกนช.หารือสภาพัฒน์ฯใช้งบเยียวยาโควิด ช่วยอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม

207
- Advertisment-

คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ยัง​ไม่ขยายกรอบวงเงินอุดหนุนราคา LPG เกินกรอบ 18,000 ล้านบาท แม้จะเหลือวงเงินดูแล LPG ได้อีกแค่ 2 อาทิตย์ โดยสั่งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) เจรจาสภาพัฒน์ฯ ขอเงินดูแลโควิด-19 มาช่วยพยุงราคา LPG เป็นการเร่งด่วน พร้อมเตรียมแผนสำรองหากสภาพัฒน์ฯไม่อนุมัติ อาจจะพิจารณาขยายกรอบบัญชี LPG แบบเดือนต่อเดือนได้ โดยยืนยันจะดูแลราคา LPG ได้ถึงสิ้นปี 2564

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ( กบน.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ยังไม่อนุมัติขยายกรอบวงเงินบัญชี LPG เพิ่ม โดยยังคงให้ใช้กรอบวงเงินเดิมที่ 18,000 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 26 ก.ย. 2564 บัญชี LPG ใช้ไปแล้ว 17,431 ล้านบาท และเหลือเพียง 569 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะดูแลราคา LPG ได้อีก 1-2 สัปดาห์จากนี้

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันเงินชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม( LPG) ถูกใช้ไปเดือนละ 1,480 ล้านบาทต่อเดือน หรือชดเชยประมาณ 12 บาทต่อกิโลกรัม ( หรือเท่ากับ 180 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ) จากเดิมชดเชยอยู่ 10 บาทต่อกิโลกรัม ( หรือเท่ากับ 150 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ) โดยสาเหตุหลักมาจากราคา LPG โลกปรับตัวสูงขึ้นมากมาอยู่ที่ระดับประมาณ 700 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ถือเป็นราคาที่สูงอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2564 นี้ จากปกติราคาจะอยู่ระดับ 300-400 เหรียญสหรัฐฯต่อตันเท่านั้น

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 กำหนดให้ตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 หรือจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 2564 นี้ ดังนั้นที่ประชุม กบน. ต้องปฎิบัติตามมติดังกล่าว และต้องหาเงินเพื่อมาดูแลราคา LPG ต่อจนถึงสิ้นปี 2564

โดย กบน. มอบหมายให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ไปหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เป็นการเร่งด่วน เพื่อขอใช้งบดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งงบดังกล่าวเคยนำมาใช้ชดเชยค่าไฟฟ้าให้ประชาชนที่ผ่านมาแล้ว โดยจะของบส่วนหนึ่งมาดูแลราคา LPG ให้ประชาชนด้วย

ทั้งนี้หากไม่ได้รับการพิจารณาให้ใช้งบดังกล่าว ทาง กบน. จำเป็นต้องเปิดประชุมอีกครั้งเพื่อขยายกรอบวงเงิน LPG เพิ่มจาก 18,000 ล้านบาท แต่จะพิจารณาแบบเดือนต่อเดือนแทน เนื่องจากเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเหลือไม่มาก แต่ยืนยันว่าจะใช้ดูแลราคา LPG ได้จนถึงสิ้นปี 2564 ตามมติ กบง. อย่างแน่นอน

โดย ณ วันที่ 26 ก.ย. 2564 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเหลือเงินสุทธิ 11,441 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินในบัญชีน้ำมัน 28,872 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 17,431 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีเงินไหลออกรวม 2,237 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินไหลออกจากการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ 758 ล้านบาท และเงินไหลออกจากการดูแลราคา LPG จำนวน 1,480 ล้านบาท ซึ่งเงินกองทุนน้ำมันฯ 11,441 ล้านบาท คาดว่าจะดูแลราคาพลังงานได้ถึง มี.ค. 2565 เท่านั้น

อย่างไรก็ตามที่ประชุม กบน. ยังไม่อนุมัติให้กู้เงินในกรอบ 20,000 ล้านบาทเข้ากองทุนน้ำมันฯ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจประเทศยังไม่ฟื้นตัวจึงไม่ต้องการให้มีภาระเงินกู้มากเกินไป ประกอบกับจะรอติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันและทิศทางราคา LPG ในการประชุมองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่จะประชุมในวันที่ 4 ต.ค. 2564 นี้ก่อน เพื่อนำมาวิเคราะห์สถานการณ์อีกครั้ง

นอกจากนี้หากสถานการณ์โควิด-19 ของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว การใช้ชีวิตประจำวันกลับมาสู่ภาวะปกติมากขึ้น จะส่งผลให้ประชาชนมีการเดินทาง เกิดการใช้น้ำมันมากขึ้นและเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ จะไหลกลับเข้าได้มากขึ้นด้วย รวมถึงอาจจะมีการปรับนโยบายใหม่ เช่น การเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันเข้ากองทุนฯมากขึ้น แต่ต้องไม่กระทบกับประชาชนเกินไป และการปรับขึ้นราคา LPG ในต้นปี 2565 รวมถึงเริ่มใช้นโยบายลดการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินไหลออกจากบัญชี LPG ลดลงไปด้วย ดังนั้น กบน.จะหาวิธีดูแลกองทุนฯ ให้มีเสถียรภาพ และมองการกู้เงินเป็นแนวทางสุดท้าย

Advertisment