สรุปได้5ข้อ “สนธิรัตน์”ติวเข้มเขียนข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชนอย่างไรให้โดนใจกรรมการ

3050
- Advertisment-

“สนธิรัตน์” ลงพื้นที่ขอนแก่น ติวเข้มผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน เขียนข้อเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนอย่างไร ให้โดนใจกรรมการ และตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิต  ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง

ต้องยอมรับว่าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ของกระทรวงพลังงาน นั้นเป็นที่สนใจของทั้งผู้ลงทุน และชุมชนในวงกว้าง ที่อยากจะเข้าร่วมโครงการ ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่จูงใจ ภายใต้อายุสัญญาระยะยาว 20ปี นั่นหมายความว่า หากชุมชนใดมีโรงไฟฟ้าประเภทนี้ ไปตั้งอยู่ในชุมชน ก็การันตีรายได้ที่จะช่วยหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจของคนในชุมชนนั้น ไปตลอด20ปี เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ปริมาณรับซื้อที่กระทรวงพลังงานกำหนดเป้าหมายเอาไว้ 700 เมกะวัตต์ นั้น ไม่ได้หมายความว่า ทุกชุมชนจะได้มีโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ตั้งในพื้นที่ของตัวเอง แต่จะเป็นแค่บางชุมชนที่มีความพร้อมเรื่องระบบสายส่งไฟฟ้ารองรับ  มีประชาคมเข้มแข็ง และมีวัตถุดิบที่เป็นเชื้อเพลิง ทั้งที่เป็นเศษวัสดุทางการเกษตรที่มีอยู่เดิม หรือมีพื้นที่ปลูกพืชพลังงาน ที่จะเป็นเชื้อเพลิงสร้างใหม่ เพียงพอส่งป้อนโรงไฟฟ้าไปได้ตลอด20ปีเท่านั้น

- Advertisment -

เมื่อเร็วๆนี้(4ก.พ.2563) ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) มีโอกาสติดตามคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อร่วมประชุมและมอบนโยบายให้กับพลังงานจังหวัดในภาคอีสานตอนกลาง ประกอบด้วย ขอนแก่น  มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์  และพูดคุยกับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าและวิสาหกิจชุมชน ที่แสดงความสนใจอยากจะเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก  จึงสรุปสาระสำคัญ ที่นายสนธิรัตน์ ได้กล่าวแนะนำกับผู้ประกอบการและผู้แทนวิสาหกิจชุมชนในห้องประชุมเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน  ดังนี้

1.ต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ในแนวสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และมีศักยภาพด้านเชื้อเพลิงที่พร้อมจะส่งป้อนให้โรงไฟฟ้าตลอดอายุสัญญา20ปี โดยเป็นได้ทั้งวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้ที่มีอยู่เดิม เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด เศษไม้ ใบอ้อยสด  หรือพืชพลังงานที่ปลูกขึ้นใหม่ เช่นหญ้าเนเปียร์  ไม้โตเร็ว ไผ่

2.ต้องเขียนบรรยายให้ตอบโจทย์วัตถุประสงค์สำคัญที่แท้จริงของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ไม่ใช่เพียงแค่การตั้งโรงไฟฟ้า  แต่ต้องชี้ให้เห็นว่า โรงไฟฟ้าจะเข้าไปมีส่วนยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นจากเดิม และต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนในด้านต่างๆได้อย่างไร  ช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร  โดยน้ำหนักคะแนนเกี่ยวกับประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน มากถึงร้อยละ60  ซึ่งจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเข้าไปตรวจสอบในรายละเอียด ก่อนพิจารณาอนุมัติ

3.ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชุมชน กับประชาคมที่ตั้งขึ้น มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ให้ทั้งผู้ประกอบการและชุมชนได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่  มีความเกื้อกูลกันจริงๆ

4.ถ้าเป็นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวล ที่ใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด ใบอ้อยสด ต้องบรรยายให้เห็นภาพว่า  การตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจะช่วยลดการเผากลางแจ้ง ที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5ได้อย่างไร   สร้างรายได้จากการขายวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างไร  ชุมชนจะนำรายได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร  รวมทั้งรายได้จากการที่โรงไฟฟ้าจ่ายคืนให้ประชาคม หน่วยละ25สตางค์ จะนำไปใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนส่วนรวมในมิติต่างๆได้อย่างไร

ส่วนกรณีที่เป็นการปลูกพืชพลังงาน ขึ้นใหม่ เช่น หญ้าเนเปียร์  ไผ่ หรือ ไม้โตเร็ว ต้องเขียนบรรยายเปรียบเทียบให้เห็นว่า มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากพืชเกษตรที่ปลูกอยู่เดิมอย่างไร และช่วยลดพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตรที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ไปเท่าไหร่

5.ต้องเป็นโครงการที่ไม่มีข้อครหา หรือมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีการจ่ายค่าหัวคิวให้กับผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นสายตรงหรือคนใกล้ชิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  โดยหากมีการตรวจสอบพบจะถูกขึ้นบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์ ไม่ให้เข้าร่วมโครงการใดใดของกระทรวงพลังงานอีก

หลังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ไปเมื่อวันที่ 16ธ.ค.2562 แล้ว  นายสนธิรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและ นายยงยุทธ จันทโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ใช้เวลาร่วม2เดือนในการจัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการเพื่อความเป็นธรรม ซึ่งคาดว่า หลักเกณฑ์ทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณ กลางเดือน ก.พ.2563 นี้ ก่อนที่จะออกประกาศเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอเข้ามา

บรรยากาศในห้องประชุมระหว่างรับฟังคำแนะนำจากนายสนธิรัตน์ รัฐมนตรีพลังงาน

งานนี้ถ้ามีการพิจารณาคัดกรองให้ได้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนอย่างแท้จริง ตามที่นายสนธิรัตน์ ลงพื้นที่มาให้คำแนะนำ กระแสความนิยมในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าต่อรัฐบาล ก็จะเป็นบวก ในทางตรงกันข้ามหาก ได้โครงการที่ผู้ประกอบการไปหลอกลวงเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน จนล้มเหลวในการบริหารจัดการ กลายเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนร้าง  คะแนนนิยมในพื้นที่ต่อรัฐบาลก็จะติดลบและขยายวงกว้างออกไปนอกพื้นที่ แบบไฟลามทุ่ง  ซึ่งตัวนายสนธิรัตน์น่าจะอ่านเกมออก

บทความโดย วัชรพงศ์ ทองรุ่ง ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC)

Advertisment