คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สรุปวงเงินมาตรการช่วยลดค่าไฟฟ้าช่วยประชาชนช่วงโควิด-19 กกพ.ใช้เงินรวม 26,612 ล้านบาท และทำให้ขาดวงเงินรักษาเสถียรภาพค่าไฟฟ้าไป 1,371 ล้านบาท ที่ให้ 3 การไฟฟ้าคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ,การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ( PEA ) รับภาระไปก่อน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมรายงานสรุปภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการลดค่าไฟฟ้าช่วยประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 ในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.2563 ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือน พ.ย. 2563 นี้ ซึ่ง กกพ.ได้ใช้เงิน Claw Back หรือ “เงินที่ กกพ. เรียกคืนมาจาก 3 การไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ลงทุนตามแผน” มาช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนรวมเป็นเงิน 26,612 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.มาตรการเงินลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน 3% รวมเป็นวงเงิน 4,949 ล้านบาท
2.มาตรการไฟฟ้าฟรี 90 หน่วย รวมเป็นเงิน 604 ล้านบาท
3.เงินลดค่าไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยโดยให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 3 เดือน รวมเป็นเงิน 20,845 ล้านบาท
และ4.มาตรการลดค่า Minimum Charge หรือการยกเว้นการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าต่ำสุดกับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและโรงแรม เป็นต้น รวมเป็นเงิน 214 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามขณะนี้ กกพ.ได้จ่ายเงินเพื่อลดค่าไฟฟ้าประชาชนให้ 3 การไฟฟ้าไปแล้ว 25,241 ล้านบาท แต่ยังขาดเงินอีก 1,371 ล้านบาท ที่ยังต้องหามาจ่ายคืนให้ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. , การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA )
โดยแนวทางเบื้องต้น กกพ.จะดึงเงินที่เตรียมไว้สำหรับตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) แต่ไม่ได้ใช้ในงวด พ.ค.-ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา รวมประมาณ 4,129 ล้านบาท เพื่อนำมาเก็บไว้ในบัญชีเงินบริหารค่าไฟฟ้า ของ กกพ. ก่อน ส่วนการจะชำระคืนให้การไฟฟ้าเมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการ กกพ.จะพิจารณาอนุมัติต่อไป