สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย ระบุหากรัฐลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลต่ำกว่า B5 กระทบอุตสาหกรรมไบโอดีเซลขั้นวิกฤติ โดยที่ผ่านมา
ที่ภาครัฐลดดีเซลทุกชนิดเหลือ B5 ส่งผลปริมาณการใช้ไบโอดีเซลลดลง 35-40% หรือคิดเป็นมูลค่า 50-60 ล้านบาทต่อวัน ในขณะที่
ปัจจุบันไทยใช้ไบโอดีเซลเพียง 30% ของกำลังผลิตที่มีสูงถึง 10 ล้านลิตรต่อวัน ชี้การปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (B100) ลงทุก 1% จะส่งผลให้ราคาจำหน่ายดีเซลลดลงเพียงประมาณ 0.1-0.15 บาทต่อลิตร เท่านั้น
สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย ส่งข้อมูลถึงสื่อมวลชนสายพลังงาน แจงถึงสถานการณ์ของผู้ผลิตไบโอดีเซลที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันที่ภาครัฐมีการปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลจากเดิมมี 3 เกรด คือB 10 (เกรดพื้นฐาน) , B7 และ B 20 (เกรดทางเลือก) โดยลดลงเหลือ B 7 และในช่วงนี้เหลือเพียงB 5
โดยนโยบายดังกล่าวทำให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลลดลงถึง 35-40% หรือคิดเป็นมูลค่า 50-60 ล้านบาทต่อวันพร้อมระบุว่า ไบโอดีเซลเป็นอุตสาหกรรมที่ภาครัฐสนับสนุนให้เอกชนลงทุน
สมาคมฯ จึงเห็นว่าการกำกับดูแลให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ได้ตามสมควร เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมนี้ได้สร้างมูลค่ากว่า 30,000 – 70,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้สมาคมฯ ตระหนักถึงความสำคัญด้านต้นทุนพลังงานและเข้าใจถึงเหตุผลในการลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามหากลดสัดส่วนการผสมลงมากกว่าที่เป็นอยู่ อุตสาหกรรมไบโอดีเซลจะได้รับผลกระทบถึงขั้นวิกฤติ โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีกำลังการผลิตไบโอดีเซลรวมประมาณ 10 ล้านลิตรต่อวันโดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพียงกว่า 30% ซึ่งในแง่อุตสาหกรรมพิจารณาว่าเป็นการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำมากจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้ทางสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยยังให้ข้อมูลว่าการปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (B100) ลงทุก 1% จะส่งผลให้ราคาจำหน่ายดีเซลลดลงเพียงประมาณ 0.1-0.15 บาทต่อลิตร เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าที่ โฆษกกระทรวงพลังงานให้ข้อมูลว่าจะลดลงได้ 0.25 บาทต่อลิตร และไม่ใช่ 2-3 บาทต่อลิตรตามที่เคยมีการนำเสนอข่าวก่อนหน้านี้
ในขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็อาจจะไม่ได้ลดลงเลย เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศนั้นผูกติดกับราคาในตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ