“สมคิด”มอบ ปตท. ผลิตปุ๋ย สร้างห้องเย็น ช่วยเกษตรกร

1099
- Advertisment-

“สมคิด ” มอบ ปตท. ผลิตปุ๋ยสั่งตัด (ปุ๋ยที่ผลิตตามสูตรที่เหมาะสมตามสภาพดินและพืชที่เพาะปลูก)  และจำหน่ายผ่านช่องทางปั๊มน้ำมัน ช่วยลดต้นทุนเกษตรกร พร้อมให้สร้างห้องเย็นขนาดเล็กที่ จ.ระยองและชุมพร เก็บรักษาผลผลิตการเกษตรหวังช่วยเพิ่มมูลค่าจำหน่ายสินค้าเกษตรเพิ่ม ปตท.พร้อมรับนโยบายไปปฏิบัติ ด้านรัฐมนตรีพลังงาน เตรียมดันโครงการ 1 ชุมชน 1 พลังงานไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ ให้เกิดขึ้น ตามนโยบาย Energy For All

เมื่อวันที่ 15 ส.ค 2562 เมื่อเวลา 9.30 น. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กระทรวงพลังงาน โดยมีนายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารระดับสูงพร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัด ได้แก่  บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) รับมอบนโยบาย

โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการมอบนโยบาย ว่า ได้ให้ ปตท. เข้ามาดำเนินการจัดทำปุ๋ยสั่งตัด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เนื่องจาก ปตท.เป็นหน่วยงานที่มีความแข็งแกร่งทางธุรกิจและระบบบริหารจัดการที่ดี ซึ่งเชื่อว่า ปตท. จะสามารถเข้ามาดำเนินการผลิตปุ๋ยดังกล่าวและใช้ปั๊มน้ำมันเป็นจุดจำหน่ายให้เกษตรกรได้ ทั้งนี้ปุ๋ยจัดเป็นต้นทุนทางการเกษตรที่สำคัญของเกษตรกรไทย หาก ปตท. ผลิตและจำหน่ายได้เองจะช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรได้มาก

- Advertisment -

นอกจากนี้ให้ ปตท.พิจารณาการจัดพื้นที่ด้านหน้าของปั๊มน้ำมัน ปตท.ใหม่ โดยให้เปิดจุดจำหน่ายสินค้าของชุมชนและเกษตรกร ไว้ด้านหน้าแทนร้านค้าต่างๆ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำคัญสำหรับจำหน่ายสินค้าชุมชนเป็นหลัก ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและทำประโยชน์เพื่อสังคม

พร้อมกันนี้ได้มอบนโยบายให้ ปตท. สร้างห้องแช่เย็นขนาดเล็ก ทั้งในพื้นที่จ.ระยอง และอ.หลังสวน จ.ชุมพร สำหรับเก็บรักษาพืชผลทางการเกษตรไว้จำหน่ายได้นานขึ้น และทำให้สามารถบริหารการขายผลผลิตที่ออกมาจำนวนมากได้ ซึ่งจังหวัดระยองและอ.หลังสวน เป็นจุดผ่านของสินค้าเกษตรมากที่สุด จึงควรสร้างขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว เพราะชาวบ้านมีความต้องการใช้สูงมาก

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ทางปตท.จะเร่งดำเนินการเรื่องลงทุนห้องเย็นแช่ผลไม้ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้สร้างห้องเย็นในพื้นที่จังหวัดที่มีผลผลิตผลไม้ออกมาจำนวนมากอย่างทางภาคใต้เป็นจังหวัดชุมพรและภาคตะวันออกเป็น ที่จังหวัดระยองนั้น กลุ่มปตท.คงต้องไปดำเนินการศึกษาแผนใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ ปตท.จะนำเอาโครงการห้องเย็นแช่ผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC ที่จะทำในพื้นที่สมาร์ทปาร์คของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มาปรับปรุงใหม่ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ได้รับมอบที่ดินจาก กนอ.จึงยังไม่ได้ดำเนินการลงทุน ซึ่งปตท.ต้องไปหาพื้นที่เอง และต้องไปศึกษาใหม่อย่างละเอียดว่าในแต่ละพื้นที่มีผลไม้ชนิดใดบ้าง และแบ่งตามฤดูกาล ตามพื้นที่ให้ตรงตามขบวนการจัดเก็บ รวมถึงการกระจายสินค้าภายในประเทศคงต้องใช้สถานีบริการน้ำมันของ ปตท.และต้องมีการหาตลาดต่างประเทศด้วย
ส่วนการลงทุนทำปุ๋ยสั่งตัดเพื่อช่วยเหลือชาวเกษตรกรนั้นเบื้องต้น ปตท.มีการนำร่องทำปุ๋ยออแกนิกส์อยู่ 3 แห่งที่จังหวัดน่านเป็นปุ๋ยสำหรับข้าว จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นปุ๋ยสำหรับกาแฟ และจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นปุ๋ยสำหรับอ้อย โดย ปตท.จะพัฒนาต่อยอดต่อไปให้ครอบคลุมทั่วทุกภาคต่อไป อย่างไรก็ตามเพื่อให้โครงการเกิดประสิทธิผล ปตท.ต้องร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพลังงาน(ที่สองจากซ้าย)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะร่วมกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ PTTOR ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ ปตท.เป็นผู้นำผลิตปุ๋ยสั่งตัด รวมทั้งให้ ปตท.มีส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรในด้านบรรจุภัณฑ์และช่องทางการจัดจำหน่าย ขณะที่กระทรวงพลังงานจะนำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วย อย่างไรก็ตามตัวเองจะเข้าไปตรวจเยี่ยมการทำงานของ ปตท. ในเร็วๆนี้

สำหรับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่รายงานต่อรองนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญได้แก่ 1. การให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าถึงพลังงาน โดยเฉพาะชุมชนและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) สามารถร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการลงทุนตามโครงการ “1 ชุมชน 1 พลังงานไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์”  ในนโยบาย “Energy For all” ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าตามเชื้อเพลิงที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เช่น บางพื้นที่เหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อาจทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุน 2-3 หมื่นล้านบาทได้ และยังช่วยยกระดับพืชผลการเกษตรรวมทั้งทำให้ราคาผลผลิตการเกษตรสูงขึ้นได้

2.การยกระดับให้ไทยเป็นผู้นำพลังงานอาเซียน และผู้นำด้านพลังงานทดแทนอาเซียนในอนาคต ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้สร้างสมดุลไฟฟ้าทั้งในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังต้องประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้วย และ 3. กระทรวงพลังงานจะร่วมกับรัฐวิสาหกิจ ช่วยขับเคลื่อนผู้ประกอบการ Start up ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า และผลักดัน Start up ไปสู่การมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

สำหรับในส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นั้น ตัวเองจะเดินทางไปมอบนโยบายที่จะปรับให้สอดคล้องกับนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเบื้องต้นทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ.จะต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมมาก โดยคาดว่าจะไปมอบนโยบายปลายเดือนส.ค. 2562 นี้

ด้าน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบายยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าในภูมิภาค โดยมีแนวทางต้องปรับเปลี่ยนสายส่งไฟฟ้าจากขนาด 115-230 KV ให้เป็น 500 KV ซึ่งจะช่วยรองรับการเชื่อมต่อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านและไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าของชุมชน และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานอาเซียนต่อไป

อย่างไรก็ตามปัจจุบันได้ตั้งคณะทำงานที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานจากกระทรวงการคลัง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อพิจารณาการพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าและการพิจารณาไม่ให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อนของ 3 การไฟฟ้า(กฟผ. , การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ทั้งนี้หากพัฒนาสายส่งได้จะช่วยยกระดับการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถผลิตและใช้ไฟฟ้าเอง หรือขายระหว่างกันได้(Prosumer) ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน จัดทำพื้นที่ต้นแบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Prosumer และจะนำไปสู่การเดินหน้าโครงการ 1 ชุมชน 1 พลังงานไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ ต่อไป

Advertisment