“สมคิด”ฝ่ามรสุมการเมือง สั่งงาน ปตท.จับมือ กฟผ. เร่งการลงทุนครึ่งปีหลัง กระตุ้นเศรษฐกิจ

788
- Advertisment-

รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ฝ่ามรสุมการเมืองและกระแสกดดันในการปรับคณะรัฐมนตรี ทีมเศรษฐกิจ เดินทางมามอบนโยบายและติดตามงานด้านพลังงาน โดย มอบ ปตท.และ กฟผ. ร่วมมือกันกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งการลงทุนครึ่งหลังปี 2563 พร้อมเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนช่วยเศรษฐกิจฐานราก หลังปัญหาโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่หน่วยงานกระทรวงพลังงาน โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกรทะรวงพลังงาน พร้อมผู้บริหารระดับสูง และองค์กรด้านพลังงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน),การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.),คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ,สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและ  สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ร่วมรับฟังนโยบาย  โดยการเดินทางมาในครั้งนี้อยู่ในช่วงที่มีกระแสข่าวภายในพรรคพลังประชารัฐกดดันให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจที่มีนายสมคิด เป็นหัวหน้าทีม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษกิจของรัฐบาล กล่าวว่า ต้องการให้กระทรวงพลังงานเร่งโครงการต่างๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เพื่อให้เกิดการตระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาไวรัส COVID-19 ตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นให้ผลประโยชน์ตกถึงประชาชนฐานรากเป็นหลัก เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่น่าจะเริ่มเปิดรับข้อเสนอได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2563 นี้ ที่สามารถดำเนินการคู่ขนานกันไปได้  โดยไม่ต้องรอ มติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ ฉบับปรับปรุง ( PDP 2018 rev1)  ซึ่งจะสามารถเริ่มดำเนินการในส่วนของโครงการQuick Win ได้ภายใน 3 เดือน

- Advertisment -

นอกจากนี้ยังมอบให้ ปตท.และกฟผ.เร่งโครงการของปี 2563 และโครงการที่มีแผนจะดำเนินการในปี 2564 ให้เร็วขึ้น  เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทดแทนด้านการท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้ให้ประเทศคิดเป็นสัดส่วน 20% ของ GDP ซึ่งได้รับผลกระทบจาก โควิด-19

  นอกจากนี้ทั้งปตท.และกฟผ.ควรจะมีส่วนในการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศผ่านปั๊มปตท.และเขื่อนของกฟผ.รวมทั้งการหามาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชนด้วย

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังเดินหน้าทำงาน ท่ามกลางกระแสข่าวการปรับครม.เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีพลังงาน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หลังสถานการณ์เชื้อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย กระทรวงพลังงานมีแผนที่จะดำเนินการ 3 ด้านในช่วงปี 2563-2565  คือ    1. ลดรายจ่ายแก่ประชาชนช่วงโควิด-19 รวมกว่า 40,500 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาและดำเนินการต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ผ่านมาตรการช่วยเหลือสำคัญ เช่น ลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและภาคธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการนำเข้า Spot LNG การยกเว้นเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum charge) ถึง กันยายน 2563  การตรึงราคาแก๊ส
หุงต้มถึง กันยายน 2563 และจะพิจารณาขยายไปถึงธันวาคม 2563 การช่วยเหลือส่วนต่างราคา NGV สำหรับรถสาธารณะ  การลดเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันลง 50 สต.ต่อลิตร และลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นลง 50 สต.ต่อลิตร

2. เร่งรัดการลงทุนด้านพลังงาน รวมกว่า 200,000 ล้านบาท ในปี 2563 สร้างการจ้างงานกว่า 10,000 คน โดยในปี 2563 จะมีการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เริ่มดำเนินการ LNG Hub เริ่มการลงทุนพัฒนา Grid Modernization และศึกษาความเป็นไปได้ของ Grid Connectivity กับประเทศเพื่อนบ้าน การรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม และเร่งโครงการ LNG receiving Terminal

3. กระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19 รวมกว่า 30,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ชุมชน เกิดการจ้างงานกว่า 8,000 คน ซึ่งต่อจากนี้ กฟผ. จะกระตุ้นให้เกิดการค้าผ่านตลาดนัดออนไลน์ชุมชนโรงไฟฟ้าและท่องเที่ยวเขื่อนทั่วไทย และ ปตท. จะจัด Living Community Market Place และเที่ยวทั่วทิศกระตุ้นเศรษฐกิจกับ Blue card พร้อมทั้ง กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยในส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เกิดการลงทุนและสร้างรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 10,000 คน เมื่อครบเป้าหมาย 700 เมกะวัตต์

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ ปตท. ระหว่างให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว

ด้าน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรก ปตท.มีการใช้งบลงทุนไปแล้ว 1.2แสนล้านบาท และในครึ่งหลังปี 2563 มีแผนที่จะลงทุนอีกจำนวน 1.48 แสนล้านบาท ในโครงการสำคัญ อาทิ โครงการท่อก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 ,สถานีเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG เทอมินอล) ,การขยายสถานีบริการน้ำมัน ของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ รวมถึงโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แหล่งเอส 1 และแหล่งอาทิตย์ ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ,โครงการพลังงานสะอาด ( Clean Fuel Project: CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP และโครงการโอเลฟินส์ ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC นอกจากนี้ ปตท.ยังเตรียมทบทวนแผนลงทุนปี 2564 ให้สอดคล้องกับนโยบาย ว่าจะสามารถเร่งโครงการใดให้เร็วขึ้นมาเป็นปี 2563 นี้ ได้บ้าง

บรรยากาศในห้องประชุมที่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังด้วย
Advertisment