สนพ.หวังแผนแม่บทสมาร์ท​กริด​ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยี​ เกิดการสร้างงาน ในประเทศ​

581
N4037
- Advertisment-

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กำลังพิจารณาเทคโนโลยีสมาร์ทกริดที่เหมาะสมกับประเทศไทยเพื่อกำหนดในแผนแม่บทในระยะปานกลาง ช่วงปี 2565-2574 หวังลดการนำเข้าระบบสมาร์ทกริดจากต่างประเทศที่มีราคาสูง และช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพแก่ผู้ประกอบการและตลาดแรงงานในประเทศได้ โดยมีการเปิดรับฟังความเห็น “โครงการแผนพัฒนางานวิจัยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเทคโนโลยีด้านสมาร์ทกริดในประเทศไทย” 28-29 มิ.ย.2564

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำ “โครงการแผนพัฒนางานวิจัยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเทคโนโลยีด้านสมาร์ทกริดในประเทศไทย” ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยระยะปานกลาง ช่วงปี 2565-2574 โดยสถาบันวิจัยฯได้เปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. ) และตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting ระหว่าง 28-29 มิ.ย. 2564

ทั้งนี้การเปิดรับฟังความเห็นในโครงการดังกล่าว เนื่องจาก สนพ.เห็นว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาเทคโนโลยีต่างๆ ด้านโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ( สมาร์ทกริด ) อย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์มูลค่าเพิ่มในการส่งเสริมเทคโนโลยีต่างๆ ที่สอดคล้องกับศักยภาพการพัฒนาและความพร้อมด้านต่างๆ ของไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยเทคโนโลยีสมาร์ทกริดในไทยปัจจุบันเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูง ส่งผลให้แผนแม่บทสมาร์ทกริดฯ ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพแก่ผู้ประกอบการและตลาดแรงงานในประเทศได้ ดังนั้นหากมีเทคโนโลยีในไทยเองจะทำให้ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศในระยะยาว และช่วยสร้างองค์ความรู้ให้กับบุคลากรภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาในสถาบันการศึกษาของไทยด้วย

- Advertisment -

โดยการประชุมรับฟังความเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) ในวันที่ 28 มิ.ย. 2564 มุ่งเน้นการรับฟังความเห็นใน 2 หัวข้อ ได้แก่ 1.การตอบสนองด้านความต้องการใช้ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงงาน (Demand Response and Energy Management System หรือ DR and EMS) 2.ระบบพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast หรือ RE Forecast) เพื่อค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ก่อนจะรวบรวมนำไปจัดทำเป็นแผนการดำเนินงาน(Road Map) ต่อไป

ทั้งนี้เทคโนโลยีสำหรับ DR and EMS และ RE Forecast ประกอบด้วย 10 เทคโนโลยีที่เปิดรับฟังความเห็น เช่น DR Platform/ Protocal และ Cloud/ Sky/ Satellite System เป็นต้น ซึ่งผู้ร่วมสัมมนาจะให้ความเห็นเพื่อจัดทำลำดับความสำคัญของเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทยและผลกระทบต่อประเทศ ตามหลักเกณฑ์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านนโยบายรัฐว่าจะให้การสนับสนุนหรือไม่ 2.ด้านเศรษฐกิจประเทศ ว่ามีผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่และสร้างเศรษฐกิจประเทศให้ดีขึ้นหรือไม่ 3. ด้านการยอมรับของสังคมและลดมลพิษได้หรือไม่ และ 4. ด้านเทคโนโลยี ว่ามีความพร้อมด้านบุคลากร และช่วยให้การจ่ายไฟฟ้า และคุณภาพไฟฟ้าประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่ เป็นต้น

สำหรับภาพรวมแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเตรียมการครอบคลุมปี 2558-2559 ,ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2560-2564 ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการนำร่องเพื่อทดสอบความเหมาะสมด้านเทคนิคและความคุ้มค่าของการลงทุนในแต่ละเทคโนโลยี ,ระยะที่ 3 หรือระยะปานกลางระหว่างปี 2565-2574 ซึ่งเป็นระยะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด และระยะที่ 4 หรือระยะยาว ระหว่างปี 2575-2579 ซึ่งเป็นระยะเริ่มทดลองใช้ความสามารถของระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดอย่างเต็มรูปแบบและเริ่มปรับปรุงความสามารถของระบบเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามการเปิดรับฟังความเห็นในวันที่ 28-29 มิ.ย. 2564 นี้จะครอบคลุม 5 ส่วน หรือ 5 เสาหลักของแผนสมาร์ทกริดไทย ได้แก่ 1.การตอบสนองด้านความต้องการใช้ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงงาน(Demand Response and Energy Management System) 2.ระบบพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast) 3.ไมโครกริดและโปรซูมเมอร์ (Microgrid and Prosumer) 4.ระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage System) และ5. การบูรณาการยานยนต์ไฟฟ้า(EV Integration)

Advertisment