สนพ. ย้ำแผนพัฒนาสมาร์ทกริด เดินสายให้ความรู้ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ

1093
- Advertisment-

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เดินหน้าขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด จัดสัมมนาสร้างความรู้ประชาชนจังหวัดสมุทรปราการ เชิญ 3 การไฟฟ้าเข้าร่วม เดินหน้าพัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยียุคดิจิทัล

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ระบบสมาร์ทกริด ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนโดยไม่รู้ตัว ความสะดวกสบายเพียงแค่ปลายนิ้ว ทุกอย่างจบในโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทกริดจะไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงได้และต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากรให้สามารถเข้าถึงและเปิดรับกับเทคโนโลยีไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด มีความสำคัญในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยองค์ประกอบของสมาร์ทกริดมีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วน ได้แก่ Hardware คือ เครื่องมืออุปกรณ์พวกสมาร์ทมิเตอร์ต่าง ๆ  Software  คือ ระบบบริหารจัดการ และ Peopleware บุคลากรที่มีความรู้ในการจัดการเทคโนโลยี จึงจำเป็นที่ต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสมาร์ทกริดสู่ภาคประชาชน เพราะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านพลังงานในปัจจุบัน

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

การจัดสัมมนา “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” (1 พฤศจิกายน 2562) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ณ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชนให้ได้รับทราบถึงความคืบหน้า นโยบายต่าง ๆ ที่ สนพ. ได้วางแผนไว้ และได้เชิญ 3 หน่วยงานการไฟฟ้าเข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ด้วย

- Advertisment -

ก่อนหน้านี้ ได้เปิดเวทีสัมมนามาแล้วที่กรุงเทพฯ และจะเริ่มเดินสายให้ความรู้ประชาชนอย่างต่อเนื่องในต่างจังหวัด ตามแผนพัฒนาระยะสั้นของแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะยาว 20 ปี (พ.ศ. 2558 – 2579) ซึ่งแผนระยะสั้น (พ.ศ. 2560 – 2564) จะเป็นช่วงของการค้นคว้าทดลองทำโครงการต่าง ๆ ซึ่งต้องพัฒนาไปพร้อมกับการสร้างองค์ความรู้ภาคประชาชน ส่วนระยะปานกลางจะเป็นช่วงที่นำสิ่งที่วิจัยทดลองในระยะสั้นส่งไปสู่ประชาชน (พ.ศ. 2565 – 2574) และระยะยาวคือพร้อมปฏิบัติได้จริง (พ.ศ. 2575 – 2579) ทั้งนี้ แผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP2018) ด้วย

นายนภดล ประเสริฐกาญจนา ผู้ตรวจการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

นายนภดล ประเสริฐกาญจนา ผู้ตรวจการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวในงานสัมมนาว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีโครงข่ายสมาร์ทกริดทำให้ ทั้ง 3 หน่วยงานการไฟฟ้าต้องเร่งพัฒนาให้ก้าวทันเทคโนโลยีไฟฟ้าเพื่อยกระดับงานไฟฟ้าทุกด้าน งานยกระดับคุณภาพบริการต่อผู้ใช้ไฟฟ้าก็เป็นสิ่งสำคัญ กฟน. มีแอปพลิเคชัน ที่เรียกว่า MEA  Smart Life ที่ช่วยให้การใช้ชีวิตของทุกคนง่ายขึ้นเพียงปลายนิ้ว ท่านสามารถเช็คปริมาณการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน ตรวจสอบบิลค่าไฟฟ้าเพื่อไปบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าให้ประหยัดขึ้นได้

นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า กฟภ. ดูแลด้านระบบไฟฟ้าสัดส่วน 70% ของประเทศ ใน 74 จังหวัด ซึ่งเป็นภาพใหญ่ โดยงานพัฒนาด้านระบบไฟฟ้าที่ส่งเสริมแผนพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริดนั้น ได้ดำเนินโครงการ Micro Grid ที่จ่ายไฟฟ้าให้กับพื้นที่เล็ก ๆ โดยเลือกพื้นที่ห่างไกลจากสถานีจ่ายไฟหลัก ในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และ อ.เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ อ.เบตง จังหวัดยะลา ซึ่งจะเป็นโมเดลแห่งการพัฒนาโครงการต่อ ๆ ไป

นายสวภพ ตรรกพงศ์ วิศวกรระดับ 9  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

นายสวภพ ตรรกพงศ์ วิศวกรระดับ 9  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหัวหน้าหน่วยเทคโนโลยีสมาร์ทกริด ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การพัฒนาระบบสมาร์ทกริดที่แม่ฮ่องสอน คือสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าในหลายรูปแบบเข้าระบบ ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ เพิ่มคุณภาพไฟฟ้า บริหารจัดการเรื่องไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับได้รวดเร็ว รวมถึงพบว่าเมื่อเกิดปัญหาสายส่ง ใน อ.เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ยังมีไฟฟ้าใช้อยู่จากระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งเราได้ทำการศึกษาทดลองและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

  

กิจกรรมการจัดสัมมนา “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” จะจัดต่อเนื่องตามแผนขับเคลื่อนระยะสั้น โดยสถานที่ต่อไปจะจัดขึ้นที่ภาคตะวันออกที่จังหวัดชลบุรี และภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการกระจายองค์ความรู้สู่ภาคประชาชนให้เข้าถึง ครอบคลุม เรื่องนโยบาย แผนงาน และทิศทางการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Advertisment