“สนธิรัตน์”หนุนปตท.เป็นองค์กรหลักในการค้าLNG ดันไทยเป็นฮับของภูมิภาค

1539
sdr
- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงานหนุนปตท.เป็นองค์กรหลักในธุรกิจแอลเอ็นจี ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการค้าแอลเอ็นจี (LNG Hub ) ในภูมิภาค เนื่องจากมีความพร้อมในระบบโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพแข่งขันกับคู่แข่งได้  โดยให้เวลา 2เดือนในการจัดทำแผนรายละเอียดนำเสนอกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)พิจารณาอนุมัติ

เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี ประกอบด้วย PTT Natural Gas Pipeline Knowledge Hall ซึ่งเป็นนิทรรศการภาพรวมของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และเข้าเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมรับส่งก๊าซฯ อัตโนมัติ (Supervisory Control and Data Acquisition: SCADA) ในงานควบคุมการรับส่งก๊าซระยะทางไกลแบบเรียลไทม์ (Real time) เพื่อให้การขนส่งก๊าซไปให้ลูกค้าตรงเวลา มีคุณภาพก๊าซตรงตามความต้องการด้วยความปลอดภัยและต่อเนื่องและรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) โดยมี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ และนายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. ให้การต้อนรับ

รัฐมนตรีพลังงานระหว่างเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการก๊าซธรรมชาติ ชลบุรี ของ ปตท.

โดยนายสนธิรัตน์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่า ได้มองเห็นถึงศักยภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐานในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและขีดความสามารถในการบริหารจัดการของปตท. และได้ให้นโยบายเพิ่มเติมไปว่า เรื่องใดที่ได้ดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว ก็ให้ดำเนินการต่อไปให้มีความต่อเนื่อง และให้ทิศทางการดำเนินการในอนาคตกับปตท.ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ว่า ปตท.จะต้องเป็นองค์กรหลัก ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ในภูมิภาค อาเซียน (LNG Hub)โดยปตท.จะเป็นผู้เล่นที่มีสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด ในการจัดหาและการค้าแอลเอ็นจี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

- Advertisment -

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ปตท.จัดทำแผนงานในรายละเอียดสำหรับการก้าวสู่การเป็นLNG Hub  เพื่อนำเสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาภายใน2 เดือน ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาอนุมัติต่อไป

ทั้งนี้มีหลายประเทศที่ต้องการจะเป็นผู้นำด้านการค้าแอลเอ็นจีในภูมิภาค ซึ่ง ปตท.จะต้องช่วงชิงความเป็นผู้นำ โดยจะเป็นผู้จัดหาแอลเอ็นจี เพื่อมากระจายออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีความต้องการ ในแบบ small scale

สำหรับประเด็นความคืบหน้าของการจัดหาแอลเอ็นจี ในปริมาณไม่เกิน1.5ล้านตันต่อปี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ประมูลจนได้ผู้ชนะคือ ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย นั้น นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 30ส.ค.2562 โดยให้ กฟผ.ทดลองนำเข้าแอลเอ็นจีแบบSpot ไปก่อน ในปริมาณไม่เกิน 1.8แสนตัน เพื่อทดสอบระบบ หลังจากนั้น กฟผ.จะรายงานผลกลับมายัง กบง. จึงจะพิจารณาว่า จะให้กฟผ.ดำเนินการอย่างไรต่อไป

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า กฟผ.ได้มีการเจรจากับทางปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย ตามมติ กบง.เมื่อวันที่ 30ส.ค.2562 แล้ว โดยทาง ปิโตรนาส ยืนยันที่จะ ยืนราคาที่ชนะประมูลการจัดหาแอลเอ็นจี ให้ กฟผ.ออกไปอีก 8 ปี  โดยหาก กฟผ.สามารถที่จะนำเข้าแอลเอ็นจี แบบSpot ตามมติ กบง.ให้แล้วเสร็จภายในปี2562 และ รายงานให้ กบง.รับทราบแล้ว หากกบง.มีนโยบายที่จะให้ กฟผ.เป็นผู้จัดหาแอลเอ็นจีรายใหม่  ที่เป็นสัญญาระยะกลาง และระยะยาว  กฟผ.ก็พร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องมีการเปิดประมูลครั้งใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันที่ 12 ตุลาคม 2562 นี้นายสนธิรัตน์  พร้อมคณะ จะเดินทางไปยัง บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อรับฟังการบรรยายการประกอบกิจการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว และเยี่ยมชมสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal)

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอ ปตท.

ด้าน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า ก๊าซธรรมชาติถือเป็นพลังงานที่สำคัญยิ่งของประเทศ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน ทำให้ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เป็นธุรกิจต้นน้ำที่เป็นหัวใจสำคัญ เป็นรากฐานของกลุ่ม ปตท. และอยู่คู่กับ ปตท. โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอด 40 ปี จนปัจจุบันได้ขยายการจัดหา จัดจำหน่ายก๊าซฯ ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน และนำเข้า LNG จากต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดก็เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย และปัจจุบันได้มุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาค ตามนโยบายจากภาครัฐต่อไป

Advertisment