สกนช.เตรียมชี้แจงขอบเขตกองทุนน้ำมันฯ ต่อรัฐบาลใหม่ หวั่นนโยบายหาเสียงแข่งลดราคาดีเซลกระทบฐานะกองทุนฯ ที่ยังติดลบกว่า 8 หมื่นล้าน

220
- Advertisment-

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) พร้อมชี้แจงเงื่อนไขกองทุนน้ำมันฯ ให้รัฐบาลใหม่ หลังกระแสนโยบายหาเสียงเน้นลดราคาน้ำมันแรง หวั่นกระทบฐานะกองทุนฯ ที่ยังติดลบกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท พร้อมรอนโยบายรัฐบาลใหม่ว่าจะต่ออายุลดภาษีดีเซลหรือไม่ หลังสิ้นสุดมาตรการ 20 ก.ค. 2566 ส่วนการลดราคาน้ำมันดีเซลต้องรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ย ในวันที่ 2-3 พ.ค. 2566 หากส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกลดลง กองทุนฯ พร้อมลดราคาดีเซลตาม     

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในรอบ 6 เดือน ระหว่างเดือน ต.ค. 2565- มี.ค. 2566 ว่า สถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวดีขึ้น จากเดิมเคยติดลบสูงสุดในเดือน พ.ย. 2565 ถึง 130,671 ล้านบาท ปัจจุบัน ณ วันที่ 23 เม.ย. 2566 ติดลบเหลือ 85,586 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันโลกผันผวนปรับลดลง ประกอบกับกองทุนฯ ได้กู้เงินจากสถาบันการเงินมาเสริมสภาพคล่อง โดยปัจจุบันกู้ไปแล้ว 50,000 ล้านบาท และเตรียมทำเรื่องกู้อีก 20,000 ล้านบาท ในเดือน พ.ค. 2566 นี้ จากกรอบวงเงินทั้งหมดที่รัฐบาลกำหนดให้กู้ได้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า สกนช. ได้เตรียมข้อมูลนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่ในด้านการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 เนื่องจากปัจจุบันมีหลายพรรคการเมืองได้มีนโยบายหาเสียงในด้านการลดราคาน้ำมัน ซึ่งในทางปฏิบัติจริงจะต้องพิจารณาด้านแผนวิฤติพลังงาน และสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนน้ำมันด้วย เพราะปัจจุบันกองทุนฯ ยังมีสถานะติดลบอยู่ 85,586 ล้านบาท และยังมีหนี้ที่ต้องจ่ายผู้ค้ามาตรา 7 อีก 5-6 หมื่นล้านบาท รวมถึงยังต้องจ่ายหนี้ที่กู้ยืมมาจากสถาบันการเงินอีกประมาณ 7 หมื่นล้านบาท  ทั้งนี้ สกนช.ไม่กังวลต่อนโยบายการลดราคาน้ำมัน เนื่องจากรัฐบาลใหม่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและต้องผ่านการพิจารณาของกฤษฏีกา ซึ่งหากไม่ถูกต้องจะต้องถูกทักท้วงก่อนจะออกเป็นนโยบายที่ชัดเจนต่อไป

- Advertisment -

  

ส่วนกรณีที่บางพรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียงด้วยการลดราคาน้ำมันดีเซลให้เหลือ 28 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันราคาจำหน่ายอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าอาจจะใช้วิธีถอดภาษีและยกเลิกการจ่ายเงินเข้ากองทุนต่างๆ ชั่วคราว ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ด้วย ซึ่งก็สามารถทำได้ แต่จะต้องพิจารณาผลกระทบด้านรายได้รัฐและฐานะกองทุนน้ำมันฯ ที่จะใช้ดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศด้วย

นอกจากนี้มาตรการลดภาษีดีเซลประมาณ 5 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค. 2566 ซึ่ง สกนช. ได้เตรียมทำแบบจำลองแนวทาง (scenario) การปรับลดราคาดีเซลที่เกี่ยวข้องกับการลดภาษีสรรพสามิตรดีเซลใน 3 แนวทางคือ 1.กรณีกลับมาเก็บภาษีดีเซลเหมือนเดิมประมาณ 5 บาทต่อลิตร 2. การปรับขึ้นภาษีดีเซลแบบขั้นบันได และ 3. การลดภาษีดีเซลเช่นปัจจุบัน จะทำให้การเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เป็นอย่างไรและกองทุนฯ จะมีฐานะอย่างไร เพื่อที่จะเสนอให้กับรัฐบาลใหม่พิจารณาเลือกแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับการปรับลดราคาดีเซลในรอบต่อไปนั้น  ทาง สกนช.จะต้องรอฟังผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เพื่อพิจารณาด้านอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 2-3 พ.ค. 2566 นี้ ซึ่งหากปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกจะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อและทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง มีผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับลดลงได้ ดังนั้นหากราคาน้ำมันโลกลดลง ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) จะพิจารณาปรับลดราคาให้ต่อไป    

Advertisment