“ศิริ”อำลา กระทรวงพลังงาน สรุปผลงานกว่า 1ปี 7 เดือนเศษในตำแหน่งรัฐมนตรี มีทั้งสำเร็จ อาทิ ประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ บงกช และค้างท่อ อาทิ การจัดหาแอลเอ็นจี 1.5ล้านตันต่อปีของกฟผ.ที่ รอรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ตัดสินใจ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center -ENC )รายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงทุกกรมในกระทรวงพลังงาน และรัฐวิสาหกิจในกำกับดูแล ทั้งกฟผ.และปตท.และข้าราชการได้ร่วมกันมาส่งนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่จะทำงานในตำแหน่งที่กระทรวงพลังงานเป็นวันสุดท้ายตามธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติ โดยเมื่อนายศิริ ลงมาถึงที่ห้องโถงชั้นล่างก็ได้กล่าวทักทายและอำลาข้าราชการ พร้อมถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก ก่อนขึ้นรถประจำตำแหน่งออกจากกระทรวงไป
สำหรับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ คาดว่าจะเดินทางเข้ามาที่กระทรวงพลังงานเป็นวันแรกในวันที่ 18 ก.ค. 2562 นี้ แต่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอย่างเป็นทางการ หลังจากที่รัฐบาลได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 24ก.ค. นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลงานที่โดดเด่นของนายศิริ ซึ่งเริ่มทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน เมื่อวันที่1ธ.ค.2560 จนถึงวันอำลาตำแหน่ง วันที่ 12 ก.ค.2562 หรือประมาณ 1ปี7เดือนเศษ นั้น คือการผลักดันให้การประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่สิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 (เอราวัณ และบงกช ) ได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากที่ยืดเยื้อมานานตั้งแต่เริ่มต้นรัฐบาลคสช. โดยได้ผู้ชนะทั้งสองแหล่ง เป็น บริษัท ปตท.สผ. การผลักดันแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศฉบับใหม่ หรือPDP2018 ที่มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติขึ้นมาให้อยู่ในสัดส่วนร้อยละ53 โดยยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ทั้งกระบี่และเทพา รวม2,800เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 2,000เมกะวัตต์ การนำน้ำมันปาล์มดิบมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าบางปะกง เพื่อช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่ล้นตลาดอย่างรวดเร็ว ในกรอบปริมาณ 260,000ตัน พร้อมส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลทั้ง บี20และบี10 อย่างไรก็ตามก็มีเสียงวิจารณ์จากภาคเอกชนถึงนโยบายที่ไม่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกลุ่มชีวมวล เหมือนเช่นที่ผ่านมา
สำหรับงานที่ นายศิริ ยังค้างเอาไว้ เพื่อให้ รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ทำต่อให้จบ คือการประมูลแอลเอ็นจีของกฟผ.ในปริมาณ 1.5ล้านตันต่อปี เป็นระยะเวลา 7ปี(ปี2563-2568 ส่วนปี 2562 นำเข้า 2.8แสนตัน) ที่ได้ผู้เสนอราคาต่ำสุดแล้ว คือปิโตรนาสแอลเอ็นจี แต่ยังไม่ได้อนุมัติให้มีการลงนามในสัญญา
รวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 2 โรงกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ของ ราช กรุ๊ป และการเจรจากับเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย หรือเอ็นพีเอส ที่จะเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงจากถ่านหิน เป็นก๊าซธรรมชาติ ของโรงไฟฟ้า ขนาด 540 เมกะวัตต์ พร้อมขยายระยะเวลาจ่ายไฟเข้าระบบไปอีก10ปี ที่ กบง.มีมติเห็นชอบแล้ว แต่ยังไม่มีการลงนามในสัญญา รวมทั้ง การอนุมัติรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย เป็นต้น โดยเรื่องดังกล่าว ต้องรอให้ นายสนธิรัตน์ พิจารณาอีกครั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจะกล้าลงนาม