วิจารณ์แหลก จัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์พลังงานปี 63 เอื้อพ่อค้าระบบโซลาร์สูบน้ำและทุนการเมือง

2967
- Advertisment-

เครือข่ายอาสาสมัครพลังงาน (อสพน.) และวิสาหกิจพลังงานชุมชนที่ผิดหวังไม่ได้รับการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 63 วิจารณ์แหลก โครงการที่ผ่านการอนุมัติที่ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะโซลาร์โฮม สูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ล้วนไม่คุ้มค่า  ตั้งงบสูงกว่าราคากลาง  เอื้อพ่อค้าและทุนการเมือง  รวมทั้งจะก่อปัญหาขยะพิษในอนาคต  ในขณะที่ผู้ใช้น้ำมันกลายเป็นผู้รับภาระ

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หรือเรียกสั้นๆว่ากองทุนอนุรักษ์พลังงานนั้น ไม่ใช่เงินจากงบประมาณแผ่นดิน  แต่เป็นรายได้จากผู้ใช้น้ำมัน แต่รายที่ใช้จะถูกหักในอัตรา 10 สตางค์ต่อลิตรเพื่อส่งเข้ากองทุน จนถึงปัจจุบันมีเงินสะสมอยู่ในหลักหลายหมื่นล้านบาท

การนำเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานมาใช้ ต้องตรงตามวัตถุประสงค์ภายใต้ พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535  ที่มีคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน เป็นผู้พิจารณา และมีทางสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นหน่วยงานเลขานุการ

- Advertisment -

ในระยะหลังมานี้ การใช้เงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานมักถูกตั้งข้อสังเกตว่าโครงการที่ได้รับการอนุมัติ จะมุ่งตอบสนองทุนการเมือง มากกว่าจะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือการส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ประเทศต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศจำนวนมากในแต่ละปีในการนำเข้ามาใช้  ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า การอนุมัติใช้เงินส่วนนี้ อนุมัติได้ง่ายกว่าและกระบวนการตรวจสอบไม่เข้มข้นเหมือนการใช้งบประมาณแผ่นดิน

ล่าสุดการจัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ปี 2563 ที่กำหนดกรอบวงเงินเอาไว้ 5,600 ล้านบาท  ปรากฏว่าในวันที่ปิดรับข้อเสนอโครงการเมื่อ 27 พ.ค. 2563 นั้น มีผู้ยื่นขอรับการจัดสรรงบมากถึง 5,155 โครงการ รวมวงเงินกว่า  62,616 ล้านบาท หรือเกินกว่างบที่จัดสรรได้ ถึง 11 เท่า โดยโครงการที่ยื่นของบเข้ามามากที่สุดคือการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์ รวมกว่า 2,339 โครงการ เป็นวงเงินกว่า 9,172 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีหลักเกณฑ์ 7  ข้อ ที่ใช้ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการคือ 1.ต้องตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535

2.เน้นโครงการที่มีข้อมูลทางเทคนิคของอุปกรณ์มาประกอบการพิจารณา โดยแสดงผลประหยัดที่ถูกต้อง มีระยะเวลาการคืนทุน มีข้อมูลความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ มีกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการชัดเจน

3.เน้นโครงการที่ผู้ขอยื่นรับการสนับสนุนไม่เข้าข่ายเป็นผู้ขอแทนกันในลักษณะที่ไม่ใช่เจ้าของหน่วยงานในสังกัดเดียวกัน

4.กรณีที่เป็นโครงการต่อเนื่อง ต้องมีรายงานแสดงผลการเบิกจ่ายของปีที่ผ่านมา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และมีรายงานผลความก้าวหน้าของโครงการในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยแสดงข้อมูลดังกล่าว ณ วันที่ยื่นข้อเสนอโครงการ

5.ไม่สนับสนุนโครงการที่ขอดำเนินการในลักษณะเดียวกับโครงการสาธิตริเริ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ หรือมีการดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว

6.กรณีเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผลผลิตภาคการเกษตรจะต้องสามารถวัดผลได้ว่า มีการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร

และ 7.ทรัพย์สินที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ถือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ได้รับการสนับสนุนจะต้องบำรุงรักษาต่อไป 

วันที่ 26 ส.ค.2563 ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีนายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน เป็นประธาน ได้อนุมัติโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2563  จำนวน 1,035 โครงการ คิดเป็น วงเงินที่ให้การสนับสนุน 2,066 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 16 โครงการ วงเงินสนับสนุน 535 ล้านบาท และแผนพลังงานทดแทน อนุมัติทั้งหมด จำนวน 1,019 โครงการ กรอบวงเงินสนับสนุน 1,531ล้านบาท  โดยวงเงินที่อนุมัติน้อยกว่ากรอบที่อนุมัติได้ เกือบ 3,600 ล้านบาท

ประเด็นการอนุมัติดังกล่าว แม้จะไม่ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามหน้าสื่อ เพราะไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลโครงการที่ได้รับอนุมัติเป็นการทั่วไป  แต่ในแวดวงคนพลังงานโดยเฉพาะจากกลุ่มที่ตั้งใจทำโครงการให้ดีตรงตามหลักเกณฑ์และวัตถุประสงค์ แต่สอบตกไม่ผ่านด่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ นั้น ได้วิจารณ์การอนุมัติงบในปีนี้อย่างหนัก

โดยเครือข่ายอาสาสมัครพลังงาน (อสพน.) และวิสาหกิจพลังงานชุมชนทั่วประเทศ, เครือข่ายองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ยื่นขอเงินสนับสนุนโดยตรงโดยไม่รวมกลุ่มกับนักการเมือง ,เครือข่ายผู้ด้อยโอกาสด้านพลังงาน และไม่มีไฟฟ้า จังหวัดพังงา นครศรีธรรมราช เพชรบุรี กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา หนองบัวลำภู ขอนแก่น เพชรบูรณ์ สระบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี นครราชสีมา   ได้ส่งหนังสือถึง ศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) พร้อมรายละเอียดโครงการที่ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2563  และชี้ให้เห็นว่าโครงการที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าอุปกรณ์เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์จากต่างประเทศ ซึ่งไม่มีความคุ้มค่าต่อการสนับสนุน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกองทุนฯกำหนด เพื่อนำมาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างน้ำมัน หรือก๊าซ  อีกทั้งเมื่อคิดต้นทุนต่อหน่วยพลังงานที่ได้ยังแพงกว่า จึงเป็นการซื้อของแพงมาแทนของถูก  ในขณะที่โครงการที่เคยได้รับการอนุมัติไปช่วงก่อนหน้านี้ ต่างมีปัญหาความไม่ยั่งยืน มีอายุการใช้งานไม่กี่ปี ก็ต้องทิ้งเป็นซากไว้ เพราะผู้ยื่นขอโครงการมิได้มีการจัดสรรเงินค่าซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์เอาไว้  ผลที่ตามมาก็คือปัญหาขยะพิษโซล่าเซลล์ในอนาคต

นอกจากนี้ โครงการที่ได้รับอนุมัติยังมีวงเงินที่สูงกว่าราคากลางที่กำหนดไว้หลายเท่า สะท้อนถึงส่วนต่างที่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่าง โครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดตั้งชุดโซลาร์โฮมให้ชุมชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ รวมวงเงินที่ขอรับจัดสรร สูงถึง 424 ล้านบาท ในขณะที่ราคากลางกำหนดไว้เพียง 106 ล้านบาท

หรือโครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดนครนายก  ซึ่งเป็นการขอระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้โครงการสถานีพลังงานชุมชน ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 15 แห่ง  มีวงเงินที่ขอรับจัดสรรรวมถึง 28 ล้านบาท แต่วงเงินตามราคากลางเพียง 9.6 ล้านบาท เป็นต้น

เครือข่ายชุมชนดังกล่าวยังระบุในหนังสือที่จะขอตรวจสอบการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับการจัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์พลังงานซึ่งเป็นเงินของผู้ใช้น้ำมันอย่างใกล้ชิด

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนประเมินภาพรวมการจัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์พลังงานปี 2563 ซึ่งตั้งต้นมาในช่วงที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ผู้ผลักดันนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน  หรือ Energy for all เริ่มต้นเหมือนเป็นความหวัง ที่จัดสรรเงินจากกองทุนฯไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างคุ้มค่า และตอบโจทย์วัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนฯอย่างแท้จริง  แต่พอเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี มาเป็น นายสุพัฒนพงษ์ กลายเป็นว่าโครงการที่ได้รับจัดสรรส่วนใหญ่ หากนำไปปฏิบัติจริงก็น่าจะได้ผลเป็นคนละเรื่องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้  เข้าอีหรอบเดียวกับโครงการเดิมๆที่เคยจัดสรรมาแล้วสร้างปัญหา

คำตอบสุดท้ายที่ถูกตั้งประเด็นไว้ คือ พ่อค้าขายระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์  พ่อค้าระบบโซลาร์โฮมและทุนการเมืองจะกลายเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับจัดสรรงบ อาจจะได้ประโยชน์บ้างในช่วงเริ่มต้นโครงการที่ระบบติดตั้งยังไม่พัง  และคนที่เสียประโยชน์ในเกมนี้ คือบรรดาผู้ใช้น้ำมันทั้งหลายที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานนั่นเอง

Advertisment