เมื่อเร็วๆ นี้ หลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (วพม.2) และสมาชิก วพม. นำโดย นายธีระพล ติรวศิน ประธาน วพม.รุ่น 2 ร่วมกับ นายวิทูรวิทย์ ปิยะณัตดิ์พูล เจ้าของธุรกิจในเครือจิงโจ้กรุ๊ป ซึ่งมีสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ตั้งอยู่กระจายทั่วทั้งจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง และยังมีโรงแรมภายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และโรงแรมหาดละแมรีสอร์ทซึ่งอยู่ริมทะเลอำเภอละแม จังหวัดชุมพร ได้ร่วมบริจาคเงินจำนวน 5 หมื่นบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องควบคุมการให้สารน้ำ หรือ Infusion pump กับโรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยมีนายแพทย์ศักดิ์สิทธิ์ มหารัตนวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นผู้รับมอบ
สำหรับเครื่อง Infusion pump จะเป็นประโยชน์กับทางโรงพยาบาลหลังสวนในการดูแลผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมากและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์มีจำกัด โดยเป็นเครื่องมือที่จะช่วยปรับปริมาณการหยดของน้ำเกลือให้เท่ากับปริมาณที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป เช่นเดียวกับการปรับด้วยมือและไม่เป็นอันตราย โดยเครื่องจะมีระบบแจ้งเตือนเมื่อมีปัญหา เช่น น้ำเกลือไม่ลง มีเลือดไหลย้อน มีฟองอากาศ ซึ่งผู้ป่วยจะได้กดออดเรียกเจ้าหน้าที่พยาบาล เพื่อที่จะได้เข้ามาแก้ไขความผิดปกติของเครื่องได้ทันที
โรงพยาบาลหลังสวนเป็นโรงพยาบาลที่ยกฐานะจากศูนย์การแพทย์และอนามัยเดิม ขึ้นเป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง เมื่อปี 2510 ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลขนาดจำนวนเตียงที่เปิดให้บริการจริง 208 เตียง มีอาคารที่ดูแลผู้ป่วยจำนวน 4 อาคาร คือ อาคาร 120 เตียง อาคาร ฐานธฺมโม อาคารผู้ป่วยหญิง (วางแผน) และอาคารผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยวิกฤต ICU
ในส่วนสมาชิกในหลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ซึ่งจบการอบรมมาตั้งแต่ ปี 2558 นั้นได้ร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ในช่วงที่ผ่านมา เช่น กิจกรรม “อร่อยด้วยได้ช่วยชาวสวน” จัดขึ้นเพื่อช่วยยกระดับราคามังคุดที่ตกต่ำ โดยการรับซื้อโดยตรงจากชาวสวนในราคาที่ชาวสวนมีกำไร เพื่อนำมาจำหน่ายในช่องทางต่างๆ ที่ผู้บริโภคยังมีความต้องการทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาราคามังคุดที่ตกต่ำของชาวสวนอำเภอหลังสวน และอำเภอใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี
ในขณะที่กิจกรรมล่าสุด ซึ่งเพิ่งจัดไปเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมาคือ กิจกรรมเสวนาพิเศษในหัวข้อ ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมต้องทำอย่างไร ณ Synergy Hall ชั้น 6 Energy Complex อาคาร C ซึ่งจัดร่วมกับสมาคมการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน โดยมีการรวบรวมข้อเสนอจากวิทยากรและผู้ร่วมงานเสวนาส่งต่อถึงภาครัฐที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายด้านไฟฟ้า โดยเฉพาะทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อให้การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับใหม่ หรือ PDP 2024 (พ.ศ.2567-2580) ที่เป็นแผนสำคัญในการกำหนดทิศทางราคาของต้นทุนค่าไฟฟ้า มีการปรับปรุงให้เป็นธรรมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปของประชาชนตามเทคโนโลยีด้านไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้น