อากาศร้อนจัด คนไทยใช้ไฟฟ้าพุ่ง สร้างสถิติยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของปี 2566 เกิดขึ้นวันนี้ 27 มี.ค. 2566 เมื่อเวลา 15.43 น. พีคไฟฟ้าแตะ 31,054.6 เมกะวัตต์ กระทรวงพลังงานคาดปี 2566 นี้ พีคในระบบ 3 การไฟฟ้าจะทะลุสูงสุดในรอบ 3 ปี จากที่เคยสร้างสถิติสูงสุดอยู่ที่ 33,177.3 เมกะวัตต์ เมื่อปี 2565 เหตุเศรษฐกิจประเทศเริ่มฟื้นตัว มั่นใจสำรองไฟฟ้าสูงกว่า 30% สามารถรองรับความต้องการไฟฟ้าสูงสุดได้โดยไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนว่า จากข้อมูลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้จัดเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ในระบบของ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.)พบว่า ในวันที่ 27 มี.ค. 2566 เมื่อเวลา 15.29 น. ได้เกิดพีคไฟฟ้าของปี 2566 ขึ้น โดยมียอดการใช้ไฟฟ้าพุ่งถึง 31,054.6 เมกะวัตต์ ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนสูงสุดระดับ 38-41 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนสะสมมาตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2566
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน คาดการณ์ว่า ในปี 2566 นี้ จะเกิดยอดพีคไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ขึ้นอีกครั้ง โดยจะมีการใช้ไฟฟ้าสูงทำลายสถิติในรอบ 3 ปี จากเดิมที่เคยมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 เวลา 14.30 น. ที่ระดับ 33,177.3 เมกะวัตต์ เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวภายหลังการเปิดประเทศ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย นักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในกิจกรรมต่างๆ กลับคืนมา ประกอบกับสภาพอากาศร้อน จึงจะทำให้ปี 2566 นี้ จะเกิดพีคไฟฟ้าทำลายสถิติสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าอีกครั้งได้
ทั้งนี้ สนพ.ยืนยันว่าแม้จะเกิดพีคไฟฟ้าขึ้นในปี 2566 นี้ แต่จะไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าตก หรือ ดับ แต่อย่างใด เนื่องจากปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศมีสูงเกิน 30% จากปกติที่ต้องมีประมาณ 15% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ดังนั้นประเทศไทยมีความพร้อมด้านการผลิตไฟฟ้ารองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงพลังงานยังผันผวนในระดับสูงได้อีก ดังนั้นจึงยังมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าต่อไป
ส่วนการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่ หรือ PDP 2023 ที่คาดว่าน่าจะเริ่มนำมาใช้ได้ในปี 2566-2580 นี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนการรายงานผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ก่อนเปิดรับฟังความเห็นประชาชน และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งหากแผน PDP ล่าช้าไปถึงปี 2567 ก็ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตไฟฟ้าของไทย โดยไฟฟ้าของไทยจะมีเพียงพอในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน แต่ความล่าช้าจะส่งผลต่อการเร่งผลักดันให้ไทยก้าวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2608 ตามที่ไทยให้คำมั่นต่อประชาคมโลกไว้