บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ เล็งเพิ่มสัดส่วนการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานขึ้นเป็น 20% จากเดิมอยู่ที่ 10% รองรับโอกาสการลงทุนภายในประเทศจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่ไฟฟ้ายังเป็นธุรกิจหลัก มีสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 80% และยังคงมองหาโอกาสลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าตามแผน PDP2018 ทั้งโครงการ IPP โครงการพลังงานทดแทน และโครงการซื้อไฟฟ้าต่างประเทศ ตั้งเป้ากำลังผลิตติดตั้งเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2566
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ โดยนอกจากจะมุ่งเน้นการลงทุนผลิตไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลักแล้ว ยังจะเน้นการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ และการก่อสร้างถนนสายหลัก เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับโอกาสการลงทุนภายในประเทศจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมุ่งเน้นสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและประเทศ โดยคาดหมายการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 20% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด โดยยังคงกำหนดให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลัก มีสัดส่วนการลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าอยู่ที่80%
ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปี และตั้งเป้าหมายมีกำลังผลิตติดตั้ง 1 หมื่นเมกะวัตต์ หรือ คิดเป็นมูลค่ากิจการ 2 แสนล้านบาทในปี 2566
“ธุรกิจผลิตไฟฟ้ายังถือเป็นธุรกิจหลักที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งองค์กร โดยบริษัทฯ ยังคงแสวงหาการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และฟิลิปปินส์” นายกิจจากล่าว
ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งตามการถือหุ้น รวม 7,526.86 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 1.) โรงไฟฟ้าเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 6,860.34 เมกะวัตต์ 2.) โรงไฟฟ้าเดินเครื่องและรับรู้รายได้ปี 2562 อีก 179.73 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คอลลินส์วิลล์ ออสเตรเลีย โรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย ในสปป.ลาว 3.) โรงไฟฟ้าที่กำลังพัฒนาและก่อสร้างอีก 4 โครงการ รวม 486.79 เมกะวัตต์
“ในแผนการลงทุนปี 2562 คาดว่าจะมีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดเล็กในไทย 2 โครงการ อีกทั้งยังมีอีก 6 โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดและเจรจาการร่วมทุนกับพันธมิตรในต่างประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สปป. ลาว และเวียดนาม”นายกิจจากล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังเล็งเห็นโอกาสลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในประเทศ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) โดยแบ่งเป็น โครงการสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) จำนวน 8,300 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานทดแทน 18,176 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 5,857 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องติดตามต่อไปว่าภาครัฐจะเปิดให้เข้าแข่งขันได้เมื่อใด
สำหรับโครงการสาธารณูปโภคที่บริษัทฯให้ความสนใจ ได้แก่
- ด้านคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะใน โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนและสีแดงเข้ม ที่ขณะนี้บริษัทฯ กำลังศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตรเพื่อเตรียมเข้าไปร่วมลงทุนในโครงการถนนมอเตอร์เวย์ 2 สาย ที่จะเปิดประมูลในอนาคต ได้แก่ สาย M6 บางปะอิน-โคราช ระยะทาง 196 กิโลเมตร และสาย M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 90 กิโลเมตร ซึ่งภาครัฐเป็นผู้ลงทุนด้านโยธา และจะให้เอกชนเข้าไปดูแลระบบบริหารจัดการ เช่น ด่านเก็บเงิน เป็นต้น นอกจากนี้กรมทางหลวงยังมีแผนจะก่อสร้างถนนอีกกว่า 6,000 กิโลเมตร ซึ่งบริษัทฯให้ความสนใจเช่นกัน
- ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม เช่น โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้ดิน และเทคโนโลยีส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต
- ด้าน Internet of Things เช่น โครงการสมาร์ทซิตี้ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเริ่มดำเนินการที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร เป็นต้น
- ด้านบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำประปา และการจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรม