ราช กรุ๊ป ยื้อ ลงนามซื้อก๊าซ ป้อนโรงไฟฟ้าหินกอง 1,400 MW กับปตท. หวังลุ้นนำเข้าLNG เอง

1571
- Advertisment-

ราช กรุ๊ป ยื้อให้คำตอบลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ( Gas Sale Agreement -GSA ) กับปตท.เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง(โรงไฟฟ้าภาคตะวันตก )ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ภายในกำหนดเดือนเม.ย.2563นี้ โดยทำหนังสือถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แจ้งขอเลื่อนการลงนามสัญญา GSA ไปจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่ราช กรุ๊ป และผู้ร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง คือ กลุ่มกัลฟ์ฯ จะนำเข้าLNG เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าดังกล่าวเอง

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เคยให้สัมภาษณ์ถึงการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกองชุดที่ 1 และ 2 (โรงไฟฟ้าภาคตะวันตก )ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์  ว่า บริษัทอยู่ในระหว่างศึกษาใน 2 ทางเลือก คือการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เอง ประมาณ 1.4-1.5 ล้านตันต่อปี หรือจะให้ ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติให้ เหมือนเช่นที่ผ่านมา  ซึ่งหากเลือกที่จะให้ ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซให้  ก็จะต้องแจ้งให้ทางปตท.รับทราบภายในเดือนเม.ย.2563 นี้เพื่อนำไปสู่การลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sale Agreement -GSA ) ระยะยาวระหว่างกัน  อย่างไรก็ตามเมื่อถึงกำหนดในวันที่ 30 เม.ย.2563 ทาง ราช กรุ๊ป ก็ยังไม่ได้ให้คำตอบว่าจะมีการลงนามซื้อขายก๊าซกับปตท. แต่อย่างใด  แต่ได้ทำหนังสือถึง นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อแจ้งขอเลื่อนระยะเวลาการลงนามในสัญญา GSA ไปจนถึงสิ้นปี 2563 นี้ เนื่องจาก ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในการ
ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement -PPA) กับ  กฟผ.เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2562 ที่ผ่านมานั้น ระบุว่า ภายใน 1ปี ทางราช กรุ๊ป จะต้องมีการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซหรือ GSA   เพื่อเป็นหลักประกันว่า โรงไฟฟ้าหินกองชุดที่ 1และ 2 จะมีเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าตลอดอายุสัญญา

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับกรณีโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก ซึ่งภายหลังใช้ชื่อ โรงไฟฟ้าหินกอง ชุดที่ 1 และ 2  ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ นั้น  ถือเป็นกรณีพิเศษ ที่ ทางราช กรุ๊ป เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ดำเนินโครงการ โดยไม่ต้องประมูลแข่งขันกับเอกชนรายอื่นๆ และมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยที่ยังไม่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซ ไปพร้อมกัน เหมือนเช่นโครงการทั่วๆไป

- Advertisment -

สำหรับแนวทางที่ ราช กรุ๊ป  จะเป็นผู้จัดหา LNG เองนั้น จะต้องให้ กฟผ.ซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า ให้ความเห็นชอบในการเลื่อนระยะเวลา ตามเงื่อนไข รวมทั้งยังต้องให้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ออกใบอนุญาตให้บริษัท เป็นshipper รายใหม่ รวมทั้ง ที่ต้องได้รับการยืนยันจากทาง ปตท. ซึ่งเป็นเจ้าของระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซ  ว่าจะสามารถดำเนินการได้โดยไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพก๊าซที่จะส่งให้กับโรงไฟฟ้า เพราะ LNG ที่นำเข้า จะต้องไปผสมรวมกับก๊าซที่มาจากแหล่งอื่นๆด้วย  โดยปัจจุบันทางผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ชุดที่ 1 และ 2 กำลังมีการเจรจากับบริษัทที่พร้อมจะซัพพลาย LNGให้ ซึ่งเสนอเงื่อนไขราคาLNG ที่ค่อนข้างถูก

สำหรับ โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ชุดที่ 1 และ2 มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567 และปี 2568  ดำเนินการโดย บริษัทหินกองเพาเวอร์ จำกัด (HKP) ที่มีบริษัทหินกองเพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) เป็นเจ้าของ โดยช่วงแรก ราช กรุ๊ป ถือหุ้นทั้ง 100 % และต่อมา เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2563 ได้ขายหุ้นในสัดส่วน 49% ในราคาทุนให้ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในราคาทุน

Advertisment