ราช กรุ๊ป ตั้งงบ 3หมื่นล้าน สร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก1,400เมกะวัตต์

1735
- Advertisment-

บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ตั้งงบ 30,000 ล้านบาท เตรียมสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 2 โรง รวม 1,400 เมกะวัตต์  โดยส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ที่จะหมดอายุปี 2563 และเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ (PDP2018) ระบุใช้ชื่อ “โรงไฟฟ้าหินกองหน่วยที่ 1 และหน่วยที่ 2” กำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบปี 2567-2568 ชี้ไตรมาส 2ของปี 2562 จะทราบรายชื่อบริษัทพันธมิตรร่วมก่อสร้างโรงไฟฟ้า หวังต่อยอดจับมือเป็นพันธมิตรในโครงการอื่นๆในอนาคต 

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อร่วมกันก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 2 โรง เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ที่จะหมดอายุในปี 2563 และเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ซึ่งจะได้ความชัดเจนภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ว่าบริษัทฯใดจะเข้ามาเป็นพันธมิตรที่จะมาร่วมศึกษาโครงการดังกล่าวร่วมกันตั้งแต่ต้น และคาดว่าจะลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)กับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 เช่นกัน

อย่างไรก็ตามแม้บริษัทฯจะมีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างโรงไฟฟ้า อีกทั้งโรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 2 โรงจะตั้งอยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าเดิมของบริษัทฯ ก็ตาม แต่บริษัทฯ ยังต้องการมีพันธมิตรทางธุรกิจ เนื่องจากมองไปถึงการต่อยอดโครงการอื่นๆ ในอนาคตร่วมกันอีกด้วย  นอกจากนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เพื่อซื้อขายก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าด้วย เนื่องจากปัจจุบัน ปตท.ได้ลงทุนสร้างท่อก๊าซฯ ทางฝั่งตะวันออกเชื่อมกับฝั่งตะวันตกของประเทศจึงทำให้การจัดส่งก๊าซฯให้โรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น

- Advertisment -

สำหรับโครงการสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตกดังกล่าว ทางบริษัทฯ จะใช้ชื่อ “โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง หน่วยที่ 1 และโรงไฟฟ้าหินกองหน่วยที่ 2” ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าหน่วยละ 700 เมกะวัตต์ รวมเป็น 1,400 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนก่อสร้างรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท กำหนดก่อสร้างในปี 2564 โดยโรงไฟฟ้าหินกองหน่วยที่ 1 จะสร้างเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD)ประมาณในปี 2567 และหน่วยที่ 2 จะCOD ปี 2568 ส่วนราคาค่าไฟฟ้าที่เจรจากับทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)นั้น ยืนยันว่าเป็นราคาที่ช่วยให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมถูกลง และไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของภาคเอกชน

Advertisment