ปตท. รายงานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยรายสัปดาห์ (22-26 พ.ย. 2564) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 หลังพบการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ Omicron ในหลายประเทศในแอฟริกาและประเทศอื่นๆ บางประเทศ สร้างความตระหนกให้นักลงทุน และคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง จับตา OPEC+ ประเมินสถานการณ์และผลกระทบจาก COVID-19 สายพันธ์ใหม่ในการประชุมวันที่ 1 ธ.ค. นี้ คาดการณ์สัปดาห์นี้ (29 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2564) ราคา ICE Brent มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 72 – 78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ Omicron สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนเนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ สามารถกลายพันธุ์ได้หลายครั้ง และมีลักษณะแตกต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ โดยล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ เปิดเผยในวันที่ 27 พ.ย. 64 ว่าพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ในแอฟริกาใต้ จำนวน 2 ราย รวมถึงพบผู้ติดเชื้อในประเทศเบลเยียม บอตสวานา ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และออสเตรเลีย ทำให้หลายประเทศเริ่มใช้มาตรการจำกัดการเดินทางที่มาจากประเทศในทวีปแอฟริกา เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส
นอกจากนั้น ยังต้องติดตามการประชุม OPEC+ ซึ่งได้เลื่อนการประชุม Joint Technical Committee (JTC) จากเดิมในวันที่ 29 พ.ย. เป็นวันที่ 1 ธ.ค. 64 เพื่อประเมินสถานการณ์และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron อย่างไรก็ตาม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของ OPEC+ จะจัดขึ้นในวันที่ 2 ธ.ค. 64 ตามเดิม โดยนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า OPEC+ อาจชะลอการเพิ่มการผลิตตามกรอบเดิมที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ชั่วคราว หลังคาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันอาจลดลงจากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ รวมถึงการปล่อยน้ำมันดิบจากคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ออกประมูลขายน้ำมันดิบจาก SPR ปริมาณรวม 32 ล้านบาร์เรล ในช่วงเดือน ธ.ค. 64 – เม.ย. 65 จากแหล่งเก็บ Big Hill (10 ล้านบาร์เรล), Bryan Mound (10 ล้านบาร์เรล) ใน Texas แหล่งเก็บ West Hackberry (7 ล้านบาร์เรล) และ Bayou Choctaw (5 ล้านบาร์เรล) ใน Louisiana และอีก 18 ล้านบาร์เรล ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดแน่ชัด
ทีมวิเคราะห์ฯ คาดว่า ด้านเทคนิค สัปดาห์นี้ราคา ICE Brent มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 72 – 78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีโอกาสที่ ICE Brent จะขึ้นไปทดสอบแนวต้านสำคัญ คือ 81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก Reuters ประเมินปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือน พ.ย. 64 เพิ่มขึ้น 1.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 10.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน และอินเดียนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 0.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 4.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 64
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 19 พ.ย. 64 เพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 434 ล้านบาร์เรล และปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่ Cushing ในรัฐ Oklahoma ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 0.79 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 27.4 ล้านบาร์เรล