- Advertisment-

ตั้งแต่ต้นปี 2567 ถึงปัจจุบัน ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยมีการปรับขึ้น-ลง เฉลี่ยราว 4 – 6 ครั้งต่อเดือน ตามกลไกราคาในตลาดโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของราคาในตลาดการค้าเสรีเช่นนี้ อาจทำให้ผู้ใช้น้ำมันรู้สึกว่าราคาน้ำมันมีการปรับขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในความเป็นจริง หากเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน จะเห็นได้ว่าราคาขายปลีกน้ำมันของไทยนั้นอยู่ระดับกลางๆ โดยมีทั้งแพงกว่าและถูกกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ด้วยปัจจัยหลัก คือ แหล่งทรัพยากรน้ำมันดิบของแต่ละประเทศและนโยบายของภาครัฐที่แตกต่างกัน

เมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันเบนซินของไทยกับ 10 ประเทศอาเซียน โดยข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงงาน (สนพ.) ณ วันที่ 16 ก.ย. 2567 ประเทศที่มีราคาน้ำมันเบนซินแพงที่สุดเป็นอันดับ 1 ได้แก่ สิงคโปร์ ราคาอยู่ที่ 74.17 บาทต่อลิตร อันดับ 2 ได้แก่ เมียนมา ราคา 50.80 บาทต่อลิตร 3. สปป.ลาว ราคาอยู่ที่ 45.53 บาทต่อลิตร 4. กัมพูชา ที่ 37.71 บาทต่อลิตร 5. ไทย 35.35 บาทต่อลิตร 6. ฟิลิปปินส์ 31.07 บาทต่อลิตร 7. อินโดนีเซีย 31.04 บาทต่อลิตร 8. เวียดนาม ราคาอยู่ที่ 26.62 บาทต่อลิตร 9. มาเลเซีย 15.84 บาทต่อลิตร และ 10. บรูไน 13.60 บาทต่อลิตร

ส่วนราคาน้ำมันดีเซล ข้อมูลจาก สนพ. ณ วันที่ 16 ก.ย. 2567 ประเทศที่มีราคาน้ำมันดีเซลแพงที่สุดอันดับ 1 ยังคงเป็นสิงคโปร์ ราคาอยู่ที่ 67.27 บาทต่อลิตร 2. เมียนมา 41.50 บาทต่อลิตร 3. ไทย จำหน่ายอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร 4. อินโดนีเซีย 31.86 บาทต่อลิตร 5. กัมพูชา 31.56 บาทต่อลิตร 6. สปป.ลาว 29.83 บาทต่อลิตร 7. ฟิลิปปินส์ 28.11 บาทต่อลิตร 8. เวียดนาม 23.27 บาทต่อลิตร 9. มาเลเซีย 23.26 บาทต่อลิตร และ 10. บรูไน 7.96 บาทต่อลิตร

- Advertisment -
ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงงาน (สนพ.)

อาจมีข้อสังเกตว่าราคาขายปลีกน้ำมันที่มาเลเซีย ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศไทย ทำไมจึงถูกกว่าไทยมากนัก โดยมีราคาน้ำมันดีเซลต่างกันกว่า 5 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน (ของไทยคือแก๊สโซฮอล์ 95) ก็ต่างกันเกือบ 21 บาทต่อลิตร

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากปัจจัยด้านธรณีวิทยาที่มีผลต่อแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมและนโยบายรัฐที่แตกต่างกัน โดยประเทศไทยแม้มีแหล่งน้ำมันดิบ แต่ไม่ได้มีขนาดใหญ่เหมือนมาเลเซีย น้ำมันดิบที่ผลิตได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของคนในประเทศ ต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศถึง 90% ของความต้องการใช้ ในขณะที่มาเลเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ยังมีการเก็บภาษีและเงินนำส่งเข้ากองทุนต่าง ๆ ตามนโยบายของภาครัฐ ที่ต่างกันอีกด้วย

โดยโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันของไทยจะแบ่งเป็น

1. ราคาเนื้อน้ำมัน (ราคาหน้าโรงกลั่น) คิดเป็นประมาณ 60 – 70% ของราคาขายปลีกน้ำมัน อ้างอิงตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดกลางสิงคโปร์ ที่เป็นตลาดกลางการค้าน้ำมันของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค และราคาดังกล่าวไม่ใช่ราคาที่ประกาศโดยประเทศสิงคโปร์ หรือ โรงกลั่นสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยราคาน้ำมันส่วนนี้ จะมีต้นทุนค่าการปรับปรุงคุณภาพ เพื่อปรับให้สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศไทย ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย  และอื่นๆ ทั้งนี้หลักการอ้างอิงราคาดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค อาทิ มาเลเซีย ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย เป็นต้น

2. ภาษีและกองทุน คิดเป็นประมาณ 25 – 30% ของราคาขายปลีกน้ำมัน ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยภาครัฐเป็นผู้กำหนดและบริหารอัตราการจัดเก็บ และ

3. ค่าการตลาด คิดเป็นประมาณ 5% ของราคาน้ำมัน เป็นผลตอบแทนก่อนหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของสถานีบริการ โดยสถานีบริการมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ เช่น เงินลงทุนก่อสร้างสถานี ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด ของเจ้าของสถานีบริการและผู้ค้าน้ำมัน ดังนั้น ค่าการตลาดจึงยังไม่ใช่กำไรสุทธิของสถานีบริการและผู้ค้าน้ำมัน

ขณะที่มาเลเซีย มีแหล่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่ที่สามารถผลิตได้มากเกินความต้องการของประเทศ จึงสามารถส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติส่วนที่เหลือ ทำให้มีรายได้กลับเข้าประเทศ นอกจากนี้มาเลเซียยังมีการใช้เงินงบประมาณของรัฐมาอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมัน เนื่องจากมาเลเซียมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงค่าภาคหลวง ค่าสัมปทานต่าง ๆ ทำให้นอกจากมาเลเซียจะไม่ต้องเก็บภาษีต่างๆ แล้ว ยังนำเงินรายได้มาอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ จึงสามารถขายน้ำมันให้แก่ประชาชนได้ในราคาถูก

นอกจากนี้ ที่ผ่านมามาเลเซียได้อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลแบบเหวี่ยงแห (Blanket Subsidy) โดยกำหนดราคาขายปลีกที่ 2.15 ริงกิต/ลิตร (ประมาณ 16.88 บาทต่อลิตร) โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2523 – 9 มิ.ย. 2567 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในประเทศ โดยในปี 2566 เพียงปีเดียวรัฐบาลมาเลเซียใช้งบประมาณอุดหนุนราคาดีเซลไปถึงประมาณ 1.43 หมื่นล้านริงกิต (ประมาณ 1.12 แสนล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. 2567 รัฐบาลมาเลเซียได้ยกเลิกนโยบายดังกล่าว โดยปล่อยราคาดีเซลลอยตัวตามกลไกตลาด ภายใต้เพดานที่กำหนดไว้ที่ 3.35 ริงกิตต่อลิตร (ประมาณ 26.30 บาทต่อลิตร) และยังคงใช้มาตรการช่วยเหลือ หรืออุดหนุนราคาแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม) โดยจะแจกเงินกลุ่มเป้าหมายที่ใช้น้ำมันดีเซลกว่า 3 หมื่นราย เข้าบัญชีคนละ 200 ริงกิตต่อเดือน (ประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน) และอุดหนุนกลุ่มธุรกิจบางประเภท เช่น ขนส่งสาธารณะ และประมง ส่วนพื้นที่ที่รัฐบาลปล่อยลอยตัวราคาดีเซล คือ พื้นที่บนคาบสมุทรมลายู (ฝั่งที่ติดกับไทย) และผลจากมาตรการดังกล่าว คาดว่าจะลดการใช้เงินงบประมาณได้ 4 พันล้านริงกิตต่อปี (3.1 หมื่นล้านบาทต่อปี)

จะเห็นได้ว่าขนาดมาเลเซียซึ่งมีแหล่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่ ยังไม่สามารถอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันได้ตลอดไป เพราะจะกลายเป็นภาระหนักให้กับรัฐบาล เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลมานาน ทำให้เงินกองทุนน้ำมัน (ในส่วนของบัญชีน้ำมัน) ติดลบกว่า 6 หมื่นล้านบาท (ส่วนภาพรวมกองทุนฯ ติดลบรวม 1.1 แสนล้านบาท จากการชดเชยราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม) ดังนั้นมาตรการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันจึงเป็นมาตรการที่ไม่ยั่งยืน และประเทศไทยที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบกว่า 90% ของความต้องการใช้ จึงควรพิจารณานโยบายช่วยเหลือราคาขายปลีกน้ำมันเฉพาะบางกลุ่มจึงจะเหมาะสมกว่า เพื่อไม่เป็นภาระต่องบประมาณของประเทศ อีกทั้งการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันนี้ยังไม่ก่อให้เกิดการประหยัดและการใช้อย่างคุ้มค่า และส่งผลให้ไม่บรรลุเป้าหมายการลด CO2 ของประเทศอีกด้วย

Advertisment