รัฐเร่งกำหนดราคาอ้างอิง​ LNG​ นำเข้า​ให้เสร็จภายใน​ มิ.ย.64​ นี้

565
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เร่งหารือ​ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน​ (สนพ.) เดินหน้าออกหลักเกณฑ์ราคาอ้างอิงการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว​ ​(LNG) สำหรับ Shipper รายใหม่ ให้แล้วเสร็จภายใน มิ.ย. 2564 นี้​ เพื่อนำเสนอ กพช.ต่อไป ระบุการต้องมีราคาอ้างอิง เพื่อไม่ให้ผู้นำเข้าซื้อก๊าซแพงกว่าราคาอ้างอิง ซึ่งจะกระทบราคาค่าไฟฟ้าประชาชนในอนาคต

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​ (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.คาดว่าจะสามารถจัดทำหลักเกณฑ์ราคาอ้างอิงการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว​ (LNG) สำหรับผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) รายใหม่ที่จะนำเข้า LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง ได้เสร็จสิ้นประมาณเดือน มิ.ย. 2564 นี้ และจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ​(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาต่อไป

โดยราคาอ้างอิงดังกล่าวจะมีทั้งรูปแบบ ราคาอ้างอิง LNG แบบราคาตลาดจร​ (Spot) และแบบสัญญาระยะยาว​ ทั้งนี้คาดว่าราคาอ้างอิงแบบ Spot จะเป็นราคาตามตลาดโลก ที่น่าจะประกาศได้วันต่อวัน แต่ในส่วนของราคาอ้างอิงราคา LNG แบบสัญญาระยะยาว จะต้องใช้เวลาศึกษาพอสมควรเนื่องจากต้องพิจารณาถึงปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและก๊าซฯจากประเทศเมียนมาร่วมด้วย

- Advertisment -

ทั้งนี้ความจำเป็นที่ต้องมีราคาอ้างอิงการนำเข้า LNG เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า โดยการนำเข้าก๊าซฯมาผลิตไฟฟ้าไม่ควรมีราคาสูงเกินราคาอ้างอิง เพราะราคาก๊าซฯ จะสะท้อนกลับมาที่ราคาค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าด้วย อย่างไรก็ตาม กกพ.กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน​ (สนพ.) เพื่อพิจารณาว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้ประกาศราคาอ้างอิงดังกล่าวต่อไป

สำหรับการทำราคาอ้างอิงการนำเข้า LNG ดังกล่าว เป็นไปตามมติ กพช.เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่เปิดให้ทั้งกลุ่มผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติจากซัพพลายเดิม (old supply) และ shipper ที่จัดหา LNG เพื่อนำมาใช้กับไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบที่เป็น new supply คือ ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท หินกองพาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด

และให้ ปตท.บริหารจัดการทั้งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) แหล่งจากเมียนมา และ LNG ที่นำเข้าตามสัญญาเดิม 5.2 ล้านตันต่อปี

โดยกำหนดให้นำก๊าซในอ่าวไทยมาใช้ในโรงแยกก๊าซก่อน และให้ ปตท.เปิดประมูล LNG Spot Flexible ราคาถูกกว่าสัญญาและเงื่อนไขเดิม (pool gas) ภายใต้การกำกับของ กกพ. ทั้งด้านปริมาณและเงื่อนไข

สำหรับ shipper ที่จัดหา LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ แต่ใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง คือ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และ บมจ.บี.กริม แอลเอ็นจี ซึ่ง กกพ.เป็นผู้พิจารณาให้เป็นไปตามรูปแบบการส่งเสริมนี้ คาดว่าจะเริ่มช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 นี้

Advertisment