รัฐส่งสัญญาณผู้บริโภค​ให้​พร้อมรับต้นทุนค่าไฟแพงขึ้นจากนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน

680
N2032
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมแยกค่าไฟฟ้าจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทนให้ชัดเจน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้เป็นไปตามมติ กพช. ซึ่งจะเห็นต้นทุนค่าไฟฟ้าจากนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนที่จะมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยปัจจุบันประชาชนช่วยแบกรับต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย

แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมแยกบัญชีค่าไฟฟ้าระหว่างค่าไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้เห็นส่วนต่างที่ชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดให้ กกพ.ต้องแสดงราคาค่าไฟฟ้าของทั้งสองประเภทให้ประชาชนได้เห็นอย่างชัดเจน โดยเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่จะมีสัดส่วนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะเริ่มแสดงบัญชีราคาค่าไฟฟ้าดังกล่าวได้ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ช่วงต้นปี 2565 นี้

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน กกพ.ได้เริ่มดำเนินการบางส่วนแล้ว โดยในการจัดทำค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ทุก 4 เดือนนั้น ได้แยกค่าไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทนให้เห็นชัดเจน ซึ่งล่าสุดค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนซึ่งอยู่ใน Ft ประมาณ 32.28 สตางค์ต่อหน่วย หรือเป็นวงเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องช่วยอุดหนุนรวม 19,934 ล้านบาท สำหรับ 4 เดือน นอกจากนี้ยังมีอัตราค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแฝงอยู่ในค่าไฟฟ้าฐาน ที่ต้องแยกออกมาด้วย ซึ่งหากรวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย

- Advertisment -

ทั้งนี้ กกพ.ยอมรับว่าการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอนาคตตามแผนพลังงานแห่งชาติ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก กพช.เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564 ที่กำหนดให้เพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าใหม่ โดยมาจากพลังงานทดแทนไม่น้อยกว่า 50% นั้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมให้เพิ่มขึ้น แต่นโยบายรัฐมองว่าต้องดำเนินการให้เป็นไปตามทิศทางโลกที่มุ่งเน้นพลังงานทดแทน เพื่อไม่ให้ถูกมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคต

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานและ กกพ.มีหน้าที่ต้องเลือกชนิดของพลังงานทดแทนให้เหมาะสมกับประเทศไทย มีประสิทธิภาพ คุ้มค่ากับราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และลดภาระประชาชนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

Advertisment