มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันโครงงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงาน ระดับปริญญาตรี หรือ 5-Minute Student Project Pitch competition (5MSPP 2023) ที่จัดโดย สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) (IEEE PES – Thailand)
โดยโครงการ “IEEE PES 5-Minute Student Project Pitch competition (5MSPP 2023)” จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาทักษะการสื่อสารความคิดด้วยคำพูดและสื่อการนำเสนออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบที่ชัดเจน กระชับและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทักษะการสื่อสารเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับนิสิต นักศึกษาและวิศวกรในศตวรรษที่ 21 นี้
ซึ่งการแข่งขันรอบสุดท้ายมีขึ้นเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 12A อาคารวัฒนวิภาส อาคารบี การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โดยคณะกรรมการตัดสินโครงงานรอบสุดท้ายประกอบด้วย ดร.ฐิติพร สังข์เพชร หัวหน้ากองวางแผนการเชื่อมต่อและความร่วมมือระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คุณมนัส อรุณวัฒนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง คุณจรัล ตั้งวงศ์ชูเกต ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คุณเบญญาภรณ์ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ คุณญาดา วิเศษรัตน์ รองประธานกลุ่มธุรกิจระบบไฟฟ้ากำลัง บริษัท ชไนเดอร์ อิเล็กทริค ไทยแลนด์
การแข่งขันในปี พ.ศ. 2566 นี้ มีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 5 ทีม จากที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 20 ทีม ได้แก่ 1. ทีม Transparent Photovoltaic จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2. ทีม Approve จากมหาวิทยาลัยนเรศวร 3. ทีม KD01 จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 4. ทีม EE-TU จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 5. ทีม กลุ่มมิเตอร์วัดพลังงาน จากมหาวิทยาลัยนเรศวร
ซึ่งผลการตัดสินของคณะกรรมการได้พิจารณาให้ทีม
Transparent Photovoltaic จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ประกอบด้วย นายพัชรพล แก้วเนิน และนายศุภวิชญ์ บูรณะเศรณี ซึ่งนำเสนอเรื่อง Transparent Photovoltaics โดยมี ดร.ชาญชัย เตชะวัชราภัยกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นทีมที่ชนะเลิศอันดับ 1 คว้ารางวัลเงินสด 20,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร
โครงงานที่ชนะเลิศ ได้นำเสนอการพัฒนาโซลาร์เซลล์แบบโปร่งใสที่มีคุณสมบัติการดูดกลืนแสง เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งแทนการใช้โซลาร์เซลล์ที่ทำจากซิลิกอน โดยศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของโซลาร์เซลล์แบบโปร่งใส ได้แก่ วัสดุ ความยาวคลื่น และรูปทรงเรขาคณิต ผ่านการทดลองต่างๆ ซึ่งผลการทดลองเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าโซลาร์เซลล์แบบโปร่งใสมีศักยภาพที่จะเป็นทางเลือกในอนาคต เนื่องจากประสิทธิภาพที่สูงของมัน
ส่วนทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Approve จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ประกอบด้วย นายนันทิพัฒน์ จันพฤกษ์ และนายกอบวริทธิ์ สิงหเดช ซึ่งนำเสนอเรื่อง ระบบวิเคราะห์พลังงานจากโซลาร์เซลล์ติดตามดวงอาทิตย์ด้วยหลักการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงโปรแกรม โดยมี ดร.จิรวดี ผลประเสริฐ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คว้าเงินสด 15,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร
โครงงานนี้เสนอการนำระบบโซลาร์เซลล์ติดตามดวงอาทิตย์มาต่อยอด โดยใช้การแสดงผลแบบเรียลไทม์ด้วยโปรแกรม Power BI และการสร้างโมเดลความสัมพันธ์ของข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากระบบโซลาร์เซลล์ติดตามดวงอาทิตย์ เช่น ค่าปริมาณแสง กำลังไฟฟ้า กระแสไฟฟ้า และแรงดันไฟฟ้าที่แผงโซลาร์เซลล์ผลิตได้ นอกจากนี้ยังรวมการพยากรณ์แนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากระบบโซลาร์เซลล์ติดตามดวงอาทิตย์ล่วงหน้า 7 วัน ด้วยการวิเคราะห์การถดถอย
สำหรับรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม EE-TU จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย นายจักริน ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และนางสาวธารทิพย์ ปัญญาใส ซึ่งนำเสนอเรื่อง การประมาณความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับ EV จากข้อมูลการเดินทาง โดยมี ผศ.ดร.ศุภชัย วรพจน์พิศุทธิ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คว้าเงินสด 10,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร
โครงงานนี้นำเสนอวิธีการพยากรณ์การใช้พลังงานไฟฟ้าของกลุ่มเครื่องอัดประจุภายในพื้นที่ที่พักอาศัย โดยศึกษาพฤติกรรมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในช่วงวันทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ จากการสืบค้น Google Maps ร่วมกับการใช้ข้อมูลสภาพแวดล้อมจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งข้อมูลทั้งสองส่วนจะถูกป้อนเข้าแบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่องจักร โครงงานนี้ได้สร้างแบบจำลองจากข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบขับเคลื่อนและระบบปรับอากาศที่จำลองด้วยโปรแกรม Automotive Simulation Model (ASM) ของ dSpace โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการพยากรณ์จะช่วยให้สามารถคาดการณ์ภาระของหม้อแปลงจำหน่ายที่มีโหลดเป็นเครื่องอัดประจุรถยนต์ไฟฟ้า
ส่วนรางวัลชมเชยมี 2 ทีม ได้แก่ ทีม KD01 จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกอบด้วย นายกฤษดา สุกขันต์ และนายปณิธาน สอนอาจ โดยมี ผศ.ดร.คมสันติ์ ดาโรจน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งนำเสนอเรื่อง การออกแบบและประเมินระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์โดยใช้ข้อมูลโหลดจากมิเตอร์ TOU และทีม กลุ่มมิเตอร์วัดพลังงาน จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ประกอบด้วย นายธนบดี ชัยกิจไทย และนางสาววราพร สุขสำราญ โดยมี ผศ.ดร.ปิยดนัย ภาชนะพรรณ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งนำเสนอเรื่อง กลุ่มมิเตอร์วัดพลังงานที่ส่งข้อมูลแบบไร้สายผ่าน NB-IoT ไปยังระบบคลาวด์เซิฟเวอร์ โดยแต่ละทีมได้รับเงินสด 5,000 บาทพร้อมประกาศนียบัตร