“มาเลเซีย” ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของอาเซียนอั้นไม่ไหว ปล่อยขึ้นราคาดีเซล อุดหนุนเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

120
- Advertisment-

แนวโน้มในการทบทวนนโยบายการอุดหนุนราคาพลังงานแก่ประชาชนในภูมิภาคอาเซียนกำลังเป็นกระแสสำคัญ จากกรณีของประเทศมาเลเซีย ที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม เริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลจากแบบที่อุดหนุนครอบคลุมทั่วไป เป็นการอุดหนุนแบบมุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น ชาวประมง เกษตรกร การขนส่งสาธารณะ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขวิกฤตด้านการเงินที่มาเลเซียกำลังเผชิญอยู่ เพราะตัวเลขการอุดหนุนราคาดีเซลของมาเลเซียพุ่งสูงขึ้นมาก โดยปี 2566 ที่ผ่านมาใช้เงินอุดหนุนราคาดีเซลไปถึง 14,300 ล้านริงกิต หรือประมาณ 110,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 เท่านับตั้งแต่ปี 2562 ที่ตัวเลขการอุดหนุนอยู่ที่เพียง 1,400 ล้านริงกิต หรือประมาณ 10,824 ล้านบาทเท่านั้น

มาเลเซียเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ ทำให้มาเลเซียมีรายได้จากการส่งออกน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงค่าภาคหลวง ค่าสัมปทานต่างๆ ทำให้นอกจากมาเลเซียจะไม่เก็บภาษีต่างๆ แล้ว ยังนำเงินรายได้มาอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศด้วย ทำให้สามารถขายน้ำมันให้แก่ประชาชนได้ในราคาถูก

การปรับเปลี่ยนนโยบายของมาเลเซียที่จำกัดความช่วยเหลือแคบเข้ามาเฉพาะกลุ่มดูเหมือนจะเป็นแนวโน้มสำหรับภูมิภาคด้วยเช่นกัน เหตุผลสำคัญมาจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายประเทศกำลังทบทวนการอุดหนุนราคาน้ำมันอีกครั้ง โดยการอุดหนุนจะมุ่งเป้าไปสู่กลุ่มเปราะบางมากขึ้น จุดประสงค์นอกจากเพื่อปรับตัวไปสู่การส่งเสริมพลังงานสะอาดแล้ว ยังช่วยลดแรงกดดันทางการเงินการคลังของประเทศ เพราะรัฐบาลต่างต้องเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ จึงต้องสร้างสมดุลทางการคลังให้ประเทศเพิ่มขึ้น

- Advertisment -

สำหรับประเทศไทย มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกในการพยุงราคาขายปลีกน้ำมัน โดยเฉพาะในกลุ่มน้ำมันดีเซล โดยก่อนหน้านี้รัฐมีนโยบายตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตรเป็นระยะนานมากกว่าทศวรรษ แม้ว่าในปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลเริ่มขยับขึ้นมาอยู่ที่เพดานไม่เกิน 33 บาท/ลิตรแล้ว แต่ก็ยังเป็นราคาต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนตรึงราคาไว้เพื่อไม่ให้กระทบค่าครองชีพประชาชน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องแบกรับภาระการอุดหนุนราคาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2567 ฐานะสุทธิกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบสูงแตะระดับ 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อ่อนตัวลงมีส่วนช่วยให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มดีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2567 โดยเริ่มมีรายรับราว 7,000 – 9,000 ล้านบาท/เดือน ส่งผลให้ประมาณการฐานะกองทุนติดลบลดลง ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เหลือ 87,694 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 40,252 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 47,442 ล้านบาท

เป็นที่น่าจับตาการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย อันเนื่องมาจากนโยบายกระทรวงพลังงาน “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ที่กำลังเข้ามาปรับเปลี่ยนระบบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงกลไกในการอุดหนุนราคาด้วย โดยมีการเตรียมร่างเป็นกฎหมายกำกับการประกอบกิจการค้าน้ำมันและก๊าซ และการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) เพื่อใช้ปริมาณน้ำมันเป็นกลไกบริหารดูแลราคาน้ำมันในประเทศไม่ให้ผันผวนปรับขึ้นลงเป็นรายวัน หวังสร้างเสถียรภาพด้านราคาน้ำมันในประเทศ โดยที่การอุดหนุนก็จะมุ่งไปยังกลุ่มเปราะบางตามกระแสหลักเช่นกัน

Advertisment