กระทรวงพลังงานออกแถลงการณ์พ้นวิกฤต พายุ “ปาบึก” เคลื่อนผ่านแท่นผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยโดยไม่สร้างความเสียหาย ด้าน ปตท.สผ. คาดสามารถกลับมาเริ่มผลิตอีกครั้งได้ในวันอาทิตย์ที่ 6 ม.ค. นี้ ฝั่งเอ็กโก้ แจงโรงไฟฟ้าขนอมเตรียมพร้อมแผนฉุกเฉินตามมาตรฐานสากล
กระทรวงพลังงานรายงานความคืบหน้าสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) ต่อการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย โดยเปิดเผยว่า ขณะนี้พายุได้เคลื่อนตัวผ่านบริเวณแท่นผลิตปิโตรเลียมโดยไม่ได้สร้างความเสียหาย ซึ่งถือว่าผ่านช่วงที่วิกฤตที่สุดต่อการผลิตปิโตรเลียมไปแล้ว และได้ส่งพนักงานเข้าไปสำรวจเพื่อเตรียมการผลิต ส่วนความคืบหน้าการติดตามและบริหารสถานการณ์พลังงาน โดยในด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) และจากสหภาพเมียนมา อยู่ที่ระดับประมาณ 2,725 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าระดับการผลิตตามปกติ จึงได้มีการบริหารจัดการด้วยการส่ง LNG เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และลดการส่งไปในภาคปิโตรเคมี ทำให้สามารถจัดสรรก๊าซฯ ไปยังภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมและ NGV ได้ตามแผน และมีปริมาณก๊าซฯ เพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์จนกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ บริษัทผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมมีแผนที่จะส่งพนักงานเข้าไปสำรวจสภาพแท่นและความพร้อมของอุปกรณ์ และ จะเคลื่อนย้ายพนักงานบางส่วนกลับเข้าไปทำงานนอกชายฝั่งตั้งแต่วันนี้ และมีแผนที่จะเริ่มการผลิตตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม และคาดว่าจะทยอยกลับมาผลิตได้ตามปกติตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม เป็นต้นไป
ด้านไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินดูแลระบบไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทั้งโรงไฟฟ้า สถานีส่งและระบบส่งไฟฟ้า โดยเฉพาะการเฝ้าระวังระดับน้ำ ที่ท่วมในพื้นที่ซึ่งอาจส่งผลต่อสถานีส่งไฟฟ้า และมีมาตรการรองรับกรณีระดับน้ำสูงไว้แล้ว
ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม ประชาชนได้รับทราบว่ามีการจัดเตรียมน้ำมันสำรองเพียงพอต่อความต้องการใช้ ทำให้ไม่เกิดความตระหนกและกักตุนน้ำมันและก๊าซหุงต้ม รวมถึงผู้ค้าน้ำมันได้มีการจัดส่งน้ำมันอย่างเพียงพอ
ด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ กฟผ. ได้จัดเตรียมถุงยังชีพ จำนวน 1,000 ถุง และ กลุ่มบริษัท ปตท. ได้จัดส่งถุงยังชีพ จำนวน 2,000 ถุง ซึ่งจัดส่งถึงพื้นที่ภาคใต้เรียบร้อยแล้ว และจะจัดส่งเพิ่มเติมอีก 4,000 ชุด ลงไปในพื้นที่อีกภายในวันที่ 5 มกราคม ต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
ด้าน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ชี้แจงว่าพายุโซนร้อนปาบึกในบริเวณอ่าวไทย ได้เคลื่อนตัวผ่านแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติของ ปตท.สผ. ในอ่าวไทยไปแล้วเมื่อเช้าวันนี้ โดยพนักงานและผู้รับเหมาทุกคนปลอดภัย และ ปตท.สผ. ได้ส่งพนักงานชุดแรกเข้าสำรวจพื้นที่แท่นผลิตก๊าซฯ บงกช เพื่อตรวจสอบความพร้อมในการดำเนินการผลิตแล้ว ก่อนที่จะส่งพนักงานและผู้รับเหมาที่เหลือทั้งหมดกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่แท่นผลิตก๊าซฯ ต่อไป ในขณะเดียวกันได้เริ่มเคลื่อนย้ายแท่นเจาะและเรือสนับสนุนต่าง ๆ กลับเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการ
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถกลับมาเริ่มผลิตก๊าซฯ จากแหล่งบงกชได้ในวันที่ 6 มกราคม 2562 ในส่วนของแท่นผลิตก๊าซฯ อาทิตย์ ยังคงดำเนินการผลิตก๊าซฯ ได้อย่างต่อเนื่องตามปกติ
สำหรับผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าว ปตท.สผ. ได้จัดเตรียมถุงยังชีพจำนวน 1,500 ชุด เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยจะประสานงานผ่านกองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 กองทัพเรือ และหน่วยงานราชการในพื้นที่
นายจักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด หรือโรงไฟฟ้า ขนอม ในกลุ่มเอ็กโก ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และได้เตรียมความพร้อมแผนฉุกเฉินตามมาตรฐานสากล โดยสำหรับการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า สามารถเดินเครื่องได้ตามปกติ โดย ปตท. ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าขนอม ยืนยันว่าสามารถจ่ายก๊าซฯ ให้โรงไฟฟ้าขนอมได้อย่างต่อเนื่อง หาก ปตท. ไม่สามารถจ่ายก๊าซฯ ได้ โรงไฟฟ้าขนอมได้เตรียมน้ำมันสำรองสำหรับเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งใช้ผลิตไฟฟ้าได้ 3.5 วัน
ในส่วนการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับอุทกภัย โรงไฟฟ้าขนอมเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์วาตภัยและอุทกภัย ตั้งแต่การออกแบบและก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยพื้นโรงไฟฟ้าอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3 เมตร อีกทั้งสภาพภูมิประเทศของโรงไฟฟ้าขนอม มีภูเขากั้นสองด้าน ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันพายุให้แก่โรงไฟฟ้า และหากฝนตกหนักและน้ำท่วมบริเวณรอบโรงไฟฟ้าและที่พักของผู้ปฏิบัติงาน โรงไฟฟ้าขนอมได้เตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร และบุคลากร สำหรับการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่ทะเล และจัดการกับขยะมูลฝอยที่มากับน้ำ พร้อมทั้งเตรียมการอพยพผู้ปฏิบัติงานจากที่พักไปยังอาคารสำนักงานโรงไฟฟ้า และประสานกับศูนย์อพยพของอำเภอ เพื่อช่วยเหลือชุมชนบริเวณรอบโรงไฟฟ้า